ผู้สนับสนุน

พัฒนาการเด็กเล็ก

ผู้เขียนเปิดบล็อกนี้ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงดูบุตรอย่างถูกวิธี สำหรับคุณแม่ที่มีความห่วงใยที่มีต่อคุณลูกและต้องการให้สิ่งที่ดีที่สุดต่อลูกรัก บทความภายในบล็อกเกิดจากการรวบรวมเนื้อหาสาระที่ดีมารวมกันไว้ที่เดี่ยวกัน

พัฒนาการเด็กเล็ก

ผู้เขียนเปิดบล็อกนี้ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงดูบุตรอย่างถูกวิธี สำหรับคุณแม่ที่มีความห่วงใยที่มีต่อคุณลูกและต้องการให้สิ่งที่ดีที่สุดต่อลูกรัก บทความภายในบล็อกเกิดจากการรวบรวมเนื้อหาสาระที่ดีมารวมกันไว้ที่เดี่ยวกัน

พัฒนาการเด็กเล็ก

ผู้เขียนเปิดบล็อกนี้ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงดูบุตรอย่างถูกวิธี สำหรับคุณแม่ที่มีความห่วงใยที่มีต่อคุณลูกและต้องการให้สิ่งที่ดีที่สุดต่อลูกรัก บทความภายในบล็อกเกิดจากการรวบรวมเนื้อหาสาระที่ดีมารวมกันไว้ที่เดี่ยวกัน

วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วัคซีน ป้องกันโรคอุจจาระร่วง โรตา ไวรัส

โรคอุจจาระร่วง

มีหลายสาเหตุอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเชื้อแบคทีเรียหรือพิษจากอาหารโรตาไวรัสเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในเด็กอายุต่ำกว่า 2ปี เด็กจะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำจำนวนมากมักไม่มีมูกเลือด ความรุนแรงมีตั้งแต่น้อยจนถึงมาก มักมีอาเจียนร่วมด้วย ถ้าลูกท้องเสียให้กินน้ำเกลือแร่ค่อยๆใช้ช้อนป้อนเพราะถ้าป้อนเร็วและปริมาณมากเด็กจะอาเจียนได้ โรตาไวรัสทำให้การย่อยน้ำตาลในนมเสียชั่วคราวควรลดนมลงครึ่งหนึ่ง ถ้าเป็นมากพิจารณาเปลี่ยนเป็นนมชนิดไม่มีน้ำตาลแลคโตส กินน้ำข้าวใส่เกลือและข้าวบดใส่เกลือได้ เด็กท้องเสียถ้าถ่ายไม่มากกินน้ำเกลือแร่ ข้าว นมได้สามารถดูแลที่บ้านได้ แต่ถ้าถ่ายและอาเจียนมากกินไม่ได้ให้น้ำทดแทนไม่ทันเด็กจะขาดน้ำอันตรายควรพบแพทย์เพื่อให้สารน้ำทดแทน


วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงโรต้าไวรัสเป็นวัคซีนชนิดหยอดปาก คำแนะนำให้เด็กก่อนอายุ6 เดือน ให้2 ครั้งห่างกัน2 เดือน วัคซีนจะป้องกันโรคอุจจาระร่วงโรต้าไวรัสได้ประมาณ 70 % เด็กที่ได้รับวัคซีนอาจป่วยได้แต่อาการจะไม่รุนแรง ผลข้างเคียงของวัคซีน อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนเล็กน้อย ถ่ายเหลวเล็กน้อย1-2 วัน

สรุปเกี่ยวกับโรคอุจจาระร่วงโรต้าไวรัส
1.เกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
2. การติดเชื้อนี้จะทำให้การย่อยน้ำตาลในนมเสียไป กว่าจะปกติใช้เวลา 2-3 สัปดาห์
3.เมื่อลูกท้องเสียให้น้ำเกลือแร่ น้ำข้าวใส่เกลือให้พอเพียง
4. วัคซีนป้องกันโรตาเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันโรคนี้

ขอแนะนำการดูแลลูกเมื่อเจ็บป่วย

ขอแนะนำการดูแลลูกเมื่อเจ็บป่วย

1.เมื่อลูกมี ไข้ เมื่อเกิดการอักเสบติดเชื้อที่ใดก็ตามในร่างกาย ร่างกายของคนเราจะเกิดมีไข้ขึ้นมาถ้าภาวะการอักเสบหรือติดเชื้อยังอยู่ในร่างกายไข้ก็ยังคงมีอยู่อาจเป็นไข้ขึ้นๆลงๆหรือไข้สูงลอยก็แล้วแต่ลักษณะของโรคนั้นเพราะพ่อแม่มักจะถามว่าทำไมกินยาลดไข้แล้วไข้ยังขึ้นอีกก็ขอตอบว่าก็สาเหตุของไข้ยังอยู่ในร่างกาย ดังนั้นการกินยาลดไข้คือการรักษาปลายเหตุแต่ก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะถ้าไข้สูงมากอาจทำให้ลูกชักได้
การดูแลลูกเมื่อมีไข้ ให้ยาลดไข้ พาราเซตามอลจะปลอดภัยที่สุด(ห้ามใช้ยา แอสไพรินเพราะถ้าเด็กเป็นโรคไข้หวัดใหญ่หรือโรคอีสุกอีใส อาจทำให้เกิดกลุ่มโรคไรด์ เกิดตับวาย และมีผลต่อสมองทำให้เสียชีวิตได้ ) ระหว่างรอยาลดไข้ออกฤทธิ์ให้ใช้น้ำก๊อกเช็ดตัวให้ลูกด้วย ยาออกฤทธิ์นาน 4-6 ชม. ช่วง1-2วันแรกไข้มักจะสูงควรตั้งนาฬิกาปลุกไว้ด้วยเพราะลูกอาจไข้ขึ้นตอนผู้ดูแลนอนหลับและควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของไข้ ถ้าเป็นไข้จากการติดเชื้อหลังจากได้รับยาฆ่าเชื้อใช้เวลา3-4 วันกว่าไข้จะลงดี แต่ถ้ารักษาเกิน3-4วันไข้ยังสูงอยู่ตลอดควรพบแพทย์เพื่อพิจารณาตรวจเลือดและปัสสาวะ

2.เมื่อลูก อาเจียน อาการอาเจียนอาจเกิดร่วมกับโรคอุจจาระร่วง หรือเกิดร่วมกับการติดเชื้อที่คอและหลอดลมเด็กจะไอพร้อมกับอาเจียน นอกจากนั้นยังพบร่วมกับโรคไส้ติ่งอักเสบร่วมด้วย เมื่อลูกอาเจียนควรให้น้ำเกลือแร่ทดแทนตามปริมาณที่อาเจียนกินทีละน้อย ใช้ยาแก้อาเจียนชื่อ MOTILIUM SYRUP กินได้ทุก 8ชั่วโมง และควรพามาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

3.เมื่อลูก ท้องเสีย ที่บ้านควรมีน้ำเกลือแร่ติดบ้านไว้เสมอ เด็กท้องเสียอันตรายที่สุดคีอสูญเสียน้ำมากและทดแทนให้ไม่ทัน ดังนั้นควรให้ลูกกินน้ำเกลือแร่โดยใช้ช้อนค่อยๆป้อน ใช้น้ำข้าวใส่เกลือเล็กน้อยทดแทนน้ำเกลือแร่ได้ ถ้าลูกยังท้อง
เสียมาก อ่อนเพลีย กินได้น้อยควรรีบพบแพทย์เพื่อให้สารน้ำทดแทน

4.เมื่อลูก ปวดท้อง สาเหตุอาจเนื่องจาก โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ท้องเสีย ไส้ติ่งอักเสบ(มักมีไข้ อาเจียนร่วมด้วย)
การดูแลเบื้องต้นอาจให้กินยาเคลือบกระเพาะถ้าไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์

5.เมื่อลูก ชัก ควรระวังภาวะอันตรายถ้าลูกล้มศรีษะกระแทกพื้น ห้ามเอานิ้วใส่ปากเพราะเด็กจะกัดเป็นอันตรายได้ ให้จับหน้าตะแคงเพื่อไม่ให้สำลักสิ่งของที่อยู่ในปาก ถ้ามีไข้ให้เช็ดตัวให้ลูก ถ้าลูกเริ่มรู้ตัวอาจให้ยาลดไข้ และยากันชักถ้าเคยเป็นมาก่อน ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

โดย คลินิก สุขภาพเด็ก โดยพญ.สุรีย์พร กอบเกื้อชัยพงษ์

วัคซีนช่วยป้องกันโรคให้ลูกรัก

การฉีดวัคซีนตามตาราง

แรกเกิด BCG (วัณโรค) ,ตับอักเสบ บีเข็ม 1

2 เดือน
โปลิโอ(หยอดปาก/ชนิดฉีด) คอตีบ ไอกรน บาดทะยักครั้งที่ 1
ตับอักเสบ บีครั้งที่ 2

4 เดือน
โปลิโอ(หยอดปาก/ชนิดฉีด) คอตีบ ไอกรน บาดทะยักครั้งที่ 2

6 เดือน
โปลิโอ(หยอดปาก/ชนิดฉีด) คอตีบ ไอกรน บาดทะยักครั้งที่ 3ตับอักเสบ บีครั้งที่ 3

9 เดือน
หัด หัดเยอรมัน คางทูมครั้งที่1

1 ปี
ไข้สมองอักเสบแจแนนิส บี ครั้งที่ 1 และ 2ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ ครั้งที่ 3 ห่างกัน 1 ปี

1ปี 6 เดือน
โปลิโอ(หยอดปาก/ชนิดฉีด) คอตีบ ไอกรน บาดทะยักครั้งที่ 4(กระตุ้น)

4ปี
โปลิโอ(หยอดปาก/ชนิดฉีด) คอตีบ ไอกรน บาดทะยักครั้งที่ 5

5ปี หัด หัดเยอรมัน คางทูมครั้งที่ 2

6 ปี กระตุ้นไข้สมองอักเสบแจแนนิส บี ครั้งที่4

11-12 ปี คอตีบ บาดทะยัก
Bวัคซีนนอกตารางและวัคซีนใหม่ใหม่
2.1 วัคซีนป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ
ฉีดที่อายุ 2 ,4และ 6เดือน(ปัจจุบันมีวัคซีมรวม5-6 โรคผสมรวมกัน)
2.2 วัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงจากเชื้อไวรัสโรตา
เป็นวัคซีนชนิดหยอดปาก รับที่อายุ 2และ4 เดือน
2.3 วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส
ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป อายุต่ำกว่า13 ปี ฉีด 1 เข็ม อายุ 13 ปี ขึ้นไปฉีด 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน
2.3 วัคซีนป้องกันไอ พี ดี

ป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสตารางการฉีดคือ


ฉีดตรั้งที่ 1 เมื่ออายุ 2 เดือน
ฉีดตรั้งที่ 2 เมื่ออายุ 4 เดือน
ฉีดตรั้งที่ 3 เมื่ออายุ 6 เดือน
ฉีดตรั้งที่ 4(กระตุ้น) เมื่ออายุ 12-15 เดือน

สำหรับเด็กที่อายุตั้งแต่ 7 เดือนขึ้นไป
อายุ 7-11 เดือน 3 ครั้ง ห่างกัน 2 เดือน
อายุ 12-23เดือน 2 ครั้งห่างกัน 2 เดือน
อายุ 2-9 ปี ฉีด 1 ครั้ง

โดย คลินิก สุขภาพเด็ก โดยพญ.สุรีย์พร กอบเกื้อชัยพงษ์




ปัญหาของทารกแรกเกิดที่พบบ่อย

A.ภาวะปกติ:

1.1เด็กสะอึก เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กแรกเกิดถึงอายุ4-5เดือนมักเป็นหลังกินนมแก้ไขโดยให้ดูดน้ำหรือนมเร็วเร็วการสะอึกจะน้อยลงแล้วหายไปเอง การสะอึกจะน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้นจนหายไปเอง

1.2เด็กสำรอกนม,อาเจียน เด็กมักจะมีการสำรอกนมได้บ้างหลังวกินนมประมาณ1 ชม.เป็นนมที่ยังย่อยไม่เสร็จเป็นก้อนเล็กๆปนกับนำนมปริมาณไม่มากซึ่งไม่ใช่ภาวะผิดปกติไม่ต้องวิตกกังวล แต่ในทารกบางคนอาจมีการอาเจียนหลังกินนมทันทีซึ่งมีหลายสาเหตุ คือ 1 กินนมมากเกินไป เช่นลูกร้องเมื่อไหร่ให้กินนมทุกครั้งการที่ลูกร้องอาจไม่หิวก็ได้ นมล้นกระเพาะอาหารเด็กก็อาเจียนออกมาได้ 2 ภาวะการไหลย้อนกลับของนมเนื่องจากหูรูดระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารเจริญไม่เต็มที่ ภาวะนี้ถ้าอาเจียนเล็กน้อยเด็กกินนมต่อได้ เจริญเติบโตดีไม่จำเป็นต้องให้ยา วิธีแก้ไขคือ

ให้ลูกนอนหัวสูงเวลาให้นม หลังกินนมเสร็จอย่าเพิ่งจับเรอให้ลูกนอนนิ่งที่สุด ให้ลูกกินนมทีละน้อยแต่กินบ่อยให้อาหารเสริมเร็วที่อายุ3 เดือน อาหารหนักท้องเด็กจะไม่อาเจียน ภาวะนี้จะดีขึ้นตามวัย และหายได้เมื่ออายุ4-7 เดือน3.ภาวะการอุดตันของกระเพาะอาหาร เด็กจะอาเจียนพุ่ง นำหนักลด ผอมลง ถ้าเด็กอาเจียนมากและเลี้ยงไม่โตครปรึกษาแพทย์

1.3เด็กถ่ายอุจจาระบ่อย จากการกินนมแม่ เด็กที่กินนมแม่อุจจาระจะมีสีเหลืองทอง เละเละอาจมีนำปนเล็กน้อย ในช่วงอายุ 1-2 เดือนแรกจะถ่ายบ่อย 5-6ครั้ง/วันหลังจากนั้นจะถ่ายลดลงเหลือ 1-2 ครั้ง/วัน ถ้าลูกกินนมแม่แล้วถ่ายลักษณะนี้ไม่ต้องกังวลใจ

1.4ภาวะรูก้นเป็นแผล[Anal Fissure] เนื่องจากเด็กเล็กมีการถ่ายบ่อยเกิดการระคายเคืองทำให้รอบรอบรูก้นเป็นแผลได้ทำให้เกิดปัญหาท้องผูกตามมาเพราะลูกเจ็บแผลจึงไม่ยอมเบ่งถ่าย วิธีป้องกันคือ ใช้วาสลินทาบริเวณรูก้นให้ลูกหลังทำความสะอาดทุกครั้งแต่ถ้าก้นเป็นแผลแล้วควรปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยาทาลดการอักเสบและรักษาแผล

1.5ภาวะคัดจมูกในทารกเด็กทารกจะมีน้ำมูกในจมูกออกมาทุกวัน ควรเช็ดน้ำมูกให้ลูกหลังอาบน้ำเช้า-เย็นโดยใช้ไม้พันสำลีหรือกระดาษทิชชู่ม้วนเล็กๆเช็ดให้ลูกเบาๆระวังไม้กระแทกจมูกลูกลูกจะเจ็บต่อไปอาจไม่ยอมให้ทำอีก

1.6ภาวะร้อง 3 เดือนหรือการปวดท้องโคลิก ภาวะนี้อาจเกิดหลังจากออกจากโรงพยาบาลหรือเมื่ออายุ3-4 สัปดาห์เด็กจะร้องตอนหัวค่ำ ร้องเป็นพักๆนาน 1-3 ชั่วโมง ภาวะนี้เชื่อว่าเกิดจากเด็กมีการปวดท้องเมื่อลำไส้บีบตํวเด็กจะร้องเป็นพักๆอาจเนื่องจากลำไส้ของเด็กยังเจริญไม่เต็มที่ วิธีแก้ไข ควรอุ้มทารกพาดบ่า ปลอบโยนลูก อาจให้ญาติผู้ใหญ่ช่วยอุ้ม อย่าเครียดเพราะเด็กจะรับรู้และยิ่งร้องมาก ถ้าอุ้มเดินแล้วเด็กร้องน้อยลงจนหลับได้ก็ไม่ต้องให้ยาแต่ถ้าร้องมากอาจให้ยาแก้ท้องอืด กล่มยา SIMETICON เด็กจะสบายขึ้นแต่ในรายที่ร้องมากอาจต้องให้ยาแก้ปวดท้องซึ่งต้องใช้ด้วยความระมัดระวังควรปรึกษาแพทย์

1.7การมีตกขาวหรือเลือดออกทางช่องคลอดชั่วคราวในทารกแรกเกิดตั้งแต่ลูกอยู่ในท้องจะได้รับฮอร์โมนเพศหญิงจากแม่ ฮอร์โมนนี้ทำให้มดลูกในเด็กผู้หญิงหนาตัว เมื่อเด็กคลอดออกมาฮอร์โมนจากแม่ลดลงอย่างรวดเร็วผนังมดลูกจะลอกตัวจึงมีเลอดออกทางช่อง ส่วนตกขาวและอวัยวะเพศบวมก็เกิดจากฮอร์โมนจากแม่เช่นกันเมื่อฮอร์โมนหมด ภาวะต่างๆเหล่านี้ก็จะหายไป

B.ภาวะผิดปกติ

2.1 สะดืออักเสบ สายสะดือจะถูกตัดออกเมื่อลูกคลอดเหลือยาวประมาณ5 ซม. ควรเช็ดสะดือให้แห้งหลังอาบน้ำ เช็ดวันละ 2 ครั้งด้วยอัลกอฮอล์ เช้า เย็น เช็ดให้ถึงโคนไม่ต้องกลัวลูกเจ็บเวลาเช็ดสะดือลูกอาจจะร้องบ้างเพราะรู้สึกรำคาญแต่ลูกจะไม่เจ็บถ้าเช็ดสะดือดี จะหลุดภายใน7-10 วันแต่ถ้าเช็ดไม่สะอาด สะดือจะแฉะ อ้กเสบ ติดเชื้อ หลุดช้า ในบางรายการติดเชื้อรุกลามเข้ากระแสเลือดเป็นอันตราย

2.2ทารกนอนมากเกินไป ทารกปกตินอนวันละ 20-22 ชั่วโมง และจะตื่นมาร้องกินนมวันละ8 มื้อ ถ้าทารกนอนมากเกินไป ไม่ตื่นมาร้องกินนมภายใน4-5 ชั่วโมงถือว่าผิดปกติควรพบแพทย์หาสาเหตุ ภาวะที่ทำให้เด็กมีอาการดังกล่าว เช่น
ภาวะฮอร์โมนทัยรอยด์ในเลือดต่ำ ตัวเหลืองมากเกิน การติดเชื้อ เป็นต้น

2.3ถุงน้ำตาอักเสบ เกิดจากการอุดตันของท่อน้ำตา พบได้บ่อยในทารกตั้งแต่แรกเกิด เด็กจะมีน้ำตาไหลคลอตาข้างที่มีการอุดตัน อาจมีการอักเสบติดเชื้อมีขี้ตามาก วิธีแก้ไข ใช้นิ้วก้อยนวดหัวตาด้านจมูกโดยกดเบาๆจากหัวตาลงสู่จมูก20-30/ครั้ง วันละ 2-3 รอบ ใช้เวลา2-3 เดือนท่อนำตาจะเปิดเอง ถ้าอายุ10เดือนท่อน้ำตายังไม่เปิดจำเป็นต้องพบหมอตาเพื่อพิจารณาแยงท่อน้ำตาให้เปิด

2.4ภาวะคอเอียง เกิดจากกลามเนื้อด้านหนึ่งมีการหดตัวมากกว่าปกติวิธีแก้ไขให้จับลูกนอนหันไปทางด้านที่กล้ามเนื้อหดตัวเพื่อให้กล้ามเนื้อยืดออก ทำทุกวัน ค้างไว้ 10วินาทีคอลูกจะกลับมาตรงได้ถ้าภายใน 6 เดือนไม่ดีขึ้นต้องรักษาโดยการผ่าตัดกล้ามเนื้อ

2.5มีเชื้อราในปากลักษณะเป็นคราบสีขาวหนาที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม อาจทำให้เด็กเจ็บและกินนมน้อยลง สาเหตุเกิดจากหลังกินนมจะมีนมเหลือค้างในปากทำให้เชื้อราเติบโต แก้ไขโดยหลังกินนมทุกครั้ง(โดยเฉพาะนมกระป๋อง)ควรให้ลูกกินน้ำเปล่าเล็กน้อยเพื่อล้างปาก ถ้าเป็นมากควรพบแพทย์เพื่อให้ยารักษาเชื้อรา

2.5ผื่นแพ้ผ้าอ้อม เด็กบางคนเมื่อใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปอาจแพ้เป็นผื่นแดงบริเวณที่สัมผัสผ้าอ้อม วิธีแก้ไขควรทาวาสลีนก่อนใส่ผ้าอ้อมให้ลูกทุกครั้ง ถ้าแพ้มากอาจต้องใช้ยาแก้แพ้ทาเด็กวัย 3 เดือนแรกนอนไม่ดิ้น กลางวันไม่ควรใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปให้ใช้ผ้ายางปูใช้ผ้าอ้อมปูทับถ้าลูกขับถ่ายให้แช่ผ้าอ้อมในน้ำแล้วซัก กลางคืนค่อยใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป


โดย คลินิก สุขภาพเด็ก โดยพญ.สุรีย์พร กอบเกื้อชัยพงษ์

โรคสมาธิสั้น (ADHD)

โรคสมาธิสั้น (ADHD) ย่อมาจากคำว่า Attention Deficit Hyperactivity Disorder
เป็นโรคที่พบได้ บ่อยในวัยเด็ก โดยที่เด็กจะไม่สามารถควบคุมสมาธิและการเคลื่อนไหวของตนเอง
ได้ จึงก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ผลการเรียนตกต่ำ แม้ระดับสติปัญญาจะปกติ มีปัญหาด้าน
ความสัมพันธ์กับผู้อื่น ถึงแม้จะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ยังพบว่าหนึ่งในสามของเด็กยังคงมีอาการอยู่บ้างหรือ
บางคนเป็นผู้ใหญ่แล้ว ยังอาจมีอาการเต็มรูปแบบอีกด้วย ซึ่งยังเพิ่มโอกาสการเกิดพยาธิ สภาพทางจิต
อื่นๆ ตามมา

ADHD เป็นภาวะผิดปกติทางจิตเวชที่มีลักษณะเด่นอยู่ 3 ประการ คือ

1. Inattentiveness คือ มีช่วงสมาธิสั้นกว่าปกติและมักจะวอกแวกง่าย (distractibility)

2. Hyperactivity คือ มีลักษณะอยู่ไม่นิ่ง อยู่ไม่สุข ซุกซนผิดปกติ

3. Impulsiveness คือ มีลักษณะหุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจในการทำอะไร
ต่างๆ

การวินิจฉัย (Diagnosis)
สมาคมจิตแพทย์อเมริกา (American Psychiatric Association) ได้จัดทำ guideline
ในการวินิจฉัย เรียกว่า DSM-IV (Diagnostic and Statistic Manual of Mental Disorders)
ซึ่งแบ่งอาการเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ inattention และ hyperactivity-impulsivity หลักการวินิจฉัย
แสดงดังนี้

I. มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 ข้อย่อยนี้
1. ในการวินิจฉัยต้องมีอาการในกลุ่มของ In- attention อย่างน้อย 6 ข้อ และอาการ
ดังกล่าวต้องเป็นมาต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งความรุนแรงของอาการมีผลกระทบต่อการปรับตัว

Inattention
-มักละเลยในรายละเอียดหรือทำผิดด้วยความเลินเล่อในการทำงาน การเรียนหรือ
กิจกรรมอื่นๆ
-มักไม่มีสมาธิในการทำงานหรือการเล่น
-มักดูเหมือนไม่ฟังเวลาพูดด้วย
-มักทำตามคำแนะนำไม่จบหรือมักทำ กิจกรรมไม่เสร็จ
-มักมีความลำบากในการจัดระเบียบงานหรือกิจกรรม
-มักหลีกเลี่ยงหรือไม่ชอบกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิ
-มักทำของหายบ่อยๆ
-มักวอกแวกง่าย
-มักลืมบ่อยๆ

2. ในการวินิจฉัยต้องมีอาการในกลุ่มของ hyperactivity-impulsivity อย่างน้อย 6 ข้อ
และอาการดังกล่าวต้องเป็นมาต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งความรุนแรงของอาการมีผลกระทบ
ต่อการปรับตัว

Hyperactivity
-มักบิดมือหรือเท้า หรือนั่งบิดไปมา
-มักลุกจากที่ในห้องเรียนหรือในที่อื่นที่ควร จะนั่ง
-มักวิ่งไปมา ปีนป่ายในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม (ในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่อาจเหลืออาการ
เพียงความรู้สึกกระวนกระวายหรือกระสับกระส่าย)
-มักไม่สามารถเล่นแบบเงียบๆ ได้
-มักเคลื่อนไหวตลอดเวลา
-มักพูดมากเกินไป

Impulsivity
-มักผลีผลามตอบก่อนจะถูกถามจบ
-มักไม่สามารถรอคอยในแถวได้
-มักพูดแทรกหรือก้าวก่ายเรื่องของคนอื่น

II. มีอาการของ ADHD บางอย่างปรากฏก่อนอายุ 7 ปี

III. อาการที่ปรากฏสามารถสังเกตเห็นได้อย่างน้อย 2 สถานที่ขึ้นไป เช่น ที่บ้าน
ที่โรงเรียน

IV. อาการที่ปรากฏก่อให้เกิดผลเสียต่อการใช้ชีวิตในสังคม การเรียน หรืออาชีพการงาน

สาเหตุของโรค
สาเหตุที่แน่นอนยังไม่ทราบแน่ชัดแต่เป็นที่ค่อนข้างแน่ใจแล้วว่า สาเหตุของ ADHD
ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง แต่เกิดจากหลายๆ สาเหตุ ดังนั้นปัจจัยต่างๆ ที่มีการศึกษาว่า
อาจเกี่ยวข้องกับการเกิด ADHD พอสรุปได้ดังนี้คือ

1. พันธุกรรม
2. สารสื่อประสาท
3. การทำงานผิดปกติของสมองส่วน frontal lobe
4. สมองถูกกระทบกระเทือน
5. ภาวะตื่นตัวของระบบประสาทผิดปกติ
6. การไหลเวียนของโลหิตในสมองผิดปกติ
7. คลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติ
8. ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์
9. ปัจจัยทางจิตสังคม
10. ปัจจัยด้านอื่นๆ

ในที่นี้จะเน้นถึงสาเหตุของโรคที่เกิดจากสารสื่อประสาทคือ dopamine เนื่องจากมีการ
ใช้ยาในการรักษา ให้ผลในการรักษาดีและสามารถอธิบายกลไกการออกฤทธิ์ของยาได้

Dopamine
เนื่องจากการรักษา ADHD ได้ผลดีชัดเจนด้วยยา dopamine agonist เช่น
Methylphenidate (Ritalin®), Amphetamine และ Monoamine oxidase inhibitor
(MAOI) ซึ่งออกฤทธิ์โดยการเพิ่มการหลั่งของ dopamine จากปลายประสาทและป้องกันการ
ดูดซึมกลับของ dopamine ทำให้มี dopamine ใน synaptic cleft มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม
สาเหตุของ ADHD ก็ไม่สามารถอธิบายจากการที่มี dopamine ต่ำเพียงอย่างเดียว เพราะไม่ใช่
dopamine agonist ทุกตัวจะรักษา ADHD ได้ผล อีกทั้ง haloperidol ซึ่งมีฤทธิ์ลด dopamine
ก็สามารถลดอาการของ ADHD ได้อีก แสดงว่าสาเหตุของ ADHD ที่เกิดจากการขาด dopamine
เองยังอาจมีความสัมพันธ์กับสารสื่อประสาทตัวอื่นๆ อีกเช่น Norepinephrine, Serotonin เป็นต้น

การรักษา
1. การรักษาด้วยยา (Pharmaco therapy)
2. พฤติกรรมบำบัด (Behavior therapy)
3. การรักษาทางการศึกษา (Education therapy)
4. การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ

การรักษาด้วยยาที่นิยมใช้คือ Methylphe-nidate (Ritalin®) เนื่องจากออกฤทธิ์
ได้เร็ว เห็นผลชัดเจนและมีความปลอดภัยสูง เด็กที่เป็นโรค ADHD ร้อยละ 75-80 จะตอบสนอง
ต่อยาตัวนี้ ดังนั้นในที่นี้จะกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับยา methylphenidate

Methylphenidate
ชื่อการค้า : Ritalin®

รูปแบบยา : 5, 10, 20 mg ต่อเม็ด และแบบ extended release 20 mg ต่อเม็ด

ข้อบ่งใช้ : 1.รักษาโรคสมาธิสั้น 2.รักษาโรคเหงาหลับ (Narcolepsy)

ขนาดและวิธีใช้ :
1. ADHD ในผู้ป่วยเด็กโดยปกติจะให้ในปริมาณน้อยๆ ก่อน เช่น 5 mg ก่อนอาหารเช้า
และกลางวัน ซึ่งอาจค่อยๆ เพิ่มขนาดยาได้อีก แต่ขนาดยาไม่ควรเกิน 60 mg ต่อวัน ถ้าปรับขนาด
ยาสูงสุดแล้ว ในช่วงเวลา 1 เดือน ยังไม่ให้ผลการรักษา ก็ควรจะเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่น
2. Narcolepsy ขนาดยาปกติคือ 10 mg วันละ 2 หรือ 3 ครั้ง โดยให้รับประทานก่อน
อาหาร 30-45 นาที

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
Methylphenidate ออกฤทธิ์กระตุ้น CNS และ respiratory เช่นเดียวกับ
amphetamines ซึ่งกลไกการออกฤทธิ์ยังไม่ทราบแน่ชัด

เภสัชจลนศาสตร์
methylphenidate ถูกดูดซึมได้ดีทาง GI-tract และมี plasma half life = 1-3 hr
แต่ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยายังคงอยู่ 4-6 hr ประมาณ 80 % ของขนาดยาที่ให้ จะถูก metabolize ไป
เป็น ritalinic acid และถูกขับถ่ายทางปัสสาวะ

อาการไม่พึงประสงค์
hypersensitivity : ผื่น (rash), urticaria, exfoliative dermatitis
CNS : ปวดศรีษะ มึนงง
Cardiovascular : ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง, cardiac arrthymia
GI-tract : คลื่นไส้, อาเจียน, ความอยากอาหารลดลง
อื่นๆ : นอนไม่หลับ ซึ่งอาจควบคุมโดยไม่ให้ยาในมื้อเย็น

ปฏิกิริยาระหว่างยา
Guanethidine : ทำให้ฤทธิ์ในการลดความ ดันโลหิตของ guanethidine ลดลง
MAOI : จะเสริมฤทธิ์ทำให้มีอาการปวดหัว, เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดิน
อาหารมากขึ้น ซึ่งผลนี้จะเป็นต่อไปอีกหลายสัปดาห์ ถึงแม้ว่าจะหยุดยากลุ่ม MAOI แล้ว

ข้อห้ามใช้
ห้ามใช้ในผู้ป่วย glaucoma, Tourette's disorder และผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรค
วิตกกังวล, มีอาการสั่น (agitation) เนื่องจากยาอาจทำให้มีอาการแย่ลง

เอกสารอ้างอิง

1. ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ. โรคสมาธิสั้น.ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล.

2. นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรศฐศิลป์. วงการยา. ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น

3. Drug fact and Comparison

4. AHFS Drug information

5. http://www.drugs.indiana.edu/pub-lications/iprc/factline/ritalin.html

6. http://www.fda.gov/fdac/departs/ 2000/600_upd.html

7. http://www.newideas.net/

อาหารตามวัยแรกเกิด-1 ปี

เด็กแรกเกิดถึงอายุ 4 เดือน ให้กินนมเพียงอย่างเดียวเท่านั้นอย่าเพิ่งให้กินอาหารจำพวกแป้งเช่น ข้าว เนืองจากเด็กวัยนี้เอนไซน์ย่อยแป้งยังไม่สมบูรณ์การให้แป้งหรือข้าวเร็วเกินไปทำให้เด็กท้องอืด อาหารไม่ย่อยได้ ถ้ามีปัญหาท้องผูกแนะนำให้กินน้ำลูกพรุนผสมน้ำเท่าตัวกินวันละ 20-30 ซีซี ปัจจุบันไม่อยากให้กินน้ำส้มเนื่องจากเปลือกส้มมีเชื้อโรค ซัลโมเนลลาซึ่งทำให้ลูกท้องเสีย ติดเชื้อในกระแสเลือด และเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ ถ้าต้องการให้ลูกกินน้ำส้มจริงควรรอไปจนอายุ 6 เดือน ใช้น้ำส้มกล่องที่ซื้อสำร็จก็ได้ แต่ความจริงแล้วในนมและอาหารเสริมที่ลูกได้รับก็มีวิตามินครบถ้วนสมบูรณ์อยู่แล้ว ควรฝึกให้ลูกได้รับอาหารเสริมตามวัย มีวินัยในการกินอาหารเพื่อที่ลูกจะไม่เป็นเด็กที่กินยาก มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย

ตารางการให้อาหารเสริมสำหรับเด็ก
อายุ อาหารเสริม
4 เดือน เริ่มอาหารเสริม 1มื้อเป็นกล้วยครูดสลับ
กับข้าวบดไข่แดง
ไม่เน้นปริมาณ แต่ฝึกให้เด็กรู้จักอาหารที่
หยาบขื้น ต้องใช้การเคี้ยว
· นม 5 ออนซ์/น้ำหนัก 1 กก.
แบ่งให้6-8มื้อ

5 เดือน ข้าวบดผสมเนื้อปลา ไข่แดง ฟักทองหรือ
ผักบด ถ้ากังวลว่าลูกจะเป็นภูมิแพ้ให้ใช้ปลาน้ำจืดและ
เริ่ม ไข่แดงหลังอายุ 6 เดือน
ไข่ขาวและอาหารทะเลเริ่มหลังอายุ 1 ปี
· นม:ลดนมลง 1มื้อ

6 เดือน อาหารหลัก 1 มื้อ ผลไม้เช่นกล้วย
มะละกอ สุก 1 มื้อ
· นม: ลดมี้อนมลง 1 มื้อ

7 เดือน เริ่มข้าวผสม เนื้อสัตว์บดได้ ใส่ผักด้วย

8-9 เดือน อาหารหลัก 2 มื้อ ต้มข้าวให้หยาบข้น
· นม: ลดมี้อนมลง 2 มื้อ

10-12 เดือน อาหารหลัก 3มื้อ ต้มข้าวให้หยาบขึ้นใกล้เคียง
ของผู้ใหญ่แต่ก็ควรดูเด็กแต่ละคนไม่
เหมือนกันบางคน กินอาหารเหมือนผู้ใหญ่ได้เร็วแต่บางคน
อาจจะช้ากว่าค่อยๆปรับไป
· นม:นม 6-8ออนซ์/มื้อ วันละ 3-4 มื้อ

ให้อาหารเสริมถูกต้องสมวัยลูกน้อยเติบใหญ่ร่างกายแข็งแรง!

คลินิก สุขภาพเด็ก โดยพญ.สุรีย์พร กอบเกื้อชัยพงษ์

ถ้าลูกจำเป็นต้องได้รับนมผสม

ถ้าลูกจำเป็นต้องได้รับนมผสม

นมแม่ดีที่สุดสำหรับลูกแต่ถ้ามีความจำเป็นต้องให้นมผสมย่อมเกิดคำถามว่าจะเลือกนมให้ลูกอย่างไรดีนมผสมหรือนมกระป๋องทุกชนิดจะต้องผสมสารอาหารขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเด็กจึงมั่นใจได้ว่านมทุกชนิดมีสารอาหาร น้ำตาล โปรตีนไขมัน วิตามินและเกลือแร่ที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของลูก ความแตกต่างอยู่ที่สารอาหาร บางชนิดที่เติมลงไป เพื่อประโยชน์ตามสิ่งที่เติมลงไป ถ้าถามกุมารแพทย์คงแนะนำว่านมชนิดไหนก็เหมือนกันถ้าลูกกินแล้วโตดี ขับถ่ายปกติ นมนั้นก็เหมาะกับลูกแล้วจะขอแนะนำความรู้ทั่วไปของนมผสม
ชนิดของนมผสม

1.นมสำหรับเด็กเกิดก่อนกำหนด จะมีพลังงานสูงและสารอาหารเหมาะสำหรับทารกเกิดก่อนกำหนด

2.นมเด็กเล็กแรกเกิด-1 ปี มีโปรตีนที่น้อยกว่านมเด็กโตเหมาะสำหรับเด็กวัยต่ำกว่า 1ปี
เนื่องจากไตของเด็กต่ำกว่า 1 ปียังทำงานไม่เต็มที่จึงควรให้ลูกกินนมเด็กเล็กจนถึงอายุ1 ปี

3.นมเด็กโตสำหรับเด็กวัย 1ปี--3ปี

4.นมกล่อง,พลาสเจอร์ไรส์ สามารถให้ในเด็กวัย1ปีขึ้นไป

5.นมพิเศษสำหรับเด็กที่มีปัญหาในการย่อย,แพ้โปรตีนนมวัว

5.1 นมที่ไม่มีน้ำตาลแลกโตส สำหรับเด็กที่ท้องเสียจากเชื้อไวรัสโรตาทำให้ขาดน้ำย่อยแลกโคสชั่วคราว

5.2 นมถั่วเหลือง สำหรับเด็กที่แพ้โปรตีนจากนมวัว

5.3 นมสูตร ไฮโปรอัลเลอยี่{HA}เป็นสูตรนมที่มีการย่อยโปรตีนในนมวัวให้มีขนาดเล็กลง ใช้สำหรับป้องกันการเกิดภูมิแพ้ในเด็กที่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว หรือเด็กที่มีอาการแพ้นมวัว

5.4 นมสูตร เคซีนไฮรโดรไลเสท ได้แก่ พรีเจตติมิลและนิวตรามิเจนสำหรับเด็กที่แพ้โปรตีนจากนมวัวหรือมีปัญหาการดูดซึมสารอาหาร และอาการไม่ดีขึ้นจากการกินนมสูตรHA หรือ นมถั่วเหลือง
การเลือกใช้นมชนิดพิเศษนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

คลินิก สุขภาพเด็ก โดยพญ.สุรีย์พร กอบเกื้อชัยพงษ์

การเจริญเติบโตในเด็ก

การเจริญเติบโตในเด็ก

1.ความยาว ,ส่วนสูง
อายุแรกเกิด

50 ซม.
แรกเกิด-6 เดือน

เด็กชายยาวขึ้นอย่างน้อย 17 ซม.
เด็กหญิงยาวขึ้นอย่างน้อย 16 ซม.
อายุ 6 เดือน-12 เดือน

เด็กชายยาวขึ้นอย่างน้อย 8 ซม.
เด็กหญิงยาวขึ้นอย่างน้อย 8 ซม
อายุ1-2ปี

เด็กชายยาวขึ้นอย่างน้อย 10 ซม.
เด็กหญิงยาวขึ้นอย่างน้อย 11 ซม
อายุ2-5ปี

เด็กชายยาวขึ้นอย่างน้อย 6-7 ซม./ปี
เด็กหญิงยาวขึ้นอย่างน้อย 6-7ซม/ปี
อายุ5ปี-เริ่มเข้าวัยรุ่น

ควรสูงขึ้น 6 ซม./ปีทั้งชายและหญิง


ความสูงตามอายุ
แรกเกิด 50 ซม.
1ปี 75 ซม.
2ปี 87 ซม.
4 ปี 100 ซม.
13ปี 150 ซม.

สูตรความสูง อายุ2-12ปี

ความสูง(ซม.)=(6 คูณ อายุ(ปี))+77

2.น้ำหนักตามวัย
น้ำหนักตัวจะเป็น 2 เท่าของน้ำหนักแรกเกิดเมื่ออายุ 4-5 เดือน
น้ำหนักตัวจะเป็น 3 เท่าของน้ำหนักแรกเกิดเมื่ออายุ 1 ปี
น้ำหนักตัวจะเป็น 4เท่าของน้ำหนักแรกเกิดเมื่ออายุ 2 ปี
น้ำหนักเด็กโดยประมาณ
แรกเกิด 3 กก.
1 ปี 9 กก.
2 ปี 12 กก.
เด็กอายุ 2-5 ปี น้ำหนักขึ้น 2.3-2.5 กก./ปี
เด็กอายุ 6-12 ปีนำหนักขึ้น 3-3.5 กก./ปี
สูตรคำนวณน้ำหนักเด็ก
อายุ2-6 ปี

น้ำหนัก(กก.)=(อายุ(ปี)คูณ 2)+8
อายุ7-12 ปี

น้ำหนัก(กก.)=(อายุ(ปี)คูณ 7)-5 หาร 2
เช่น อายุ 9 ปี น้ำหนัก=( 9 คูณ 7)-5 หาร 2= 29 กก.


3.เส้นรอบศีรษะ

การวัดรอบศีรษะเด็กและการวัดขนาดของกระหม่อมด้านหน้าในเด็กอายุน้อยกว่า 3ปี มีความสำคัญเนื่องจากสมองเด็กมีการพัฒนาการและเติบโตในช่วงนี้ทุกครั้งที่ลูกมารับวัคซีนและตรวจสุขภาพแพทย์จะวัดรอบศีรษะและตรวจกระหม่อมหน้า
เส้นรอบศรีษะจะโตขึ้นตามวัยถ้าศีรษะเล็กอาจแสดงว่าสมองเล็กด้วยหรือถ้ากระหม่อมหน้าปิดเร็วเกินไปสมองเด็กยังโตไม่เต็มที่มีผลต่อพัฒนาการเช่นกัน ถ้าศีรษะโตเกินร่วมกับกระหม่อมหน้าปิดช้าหรือกระหม่อมหน้ายังกว้างมากไม่เหมาะสมกับอายุต้องระวังภาวะมีน้ำในสมองมากเกินไป แต่มีบางครอบครัวที่ศีรษะโตโดยกรรมพันธุ์ภาวะนี้ศีรษะเด็กจะโตกว่าวัยแต่กระหม่อมหน้าเล็กลงตามวัยถือว่าเป็นภาวะปกติ ถ้าแพทย์สงสัยภาวะศีรษะที่ผิดปกติในเด็กที่กระหม่อมหน้ายังเปิดอยู่สามารถตรวจวินิจฉัยได้ง่ายโดยวิธี อัลตร้าซาวด์ผ่าทางกระหม่อมหน้าจะสามารถบอกได้ว่ามีความผิดปกติน้ำในสมองมากเกินไปหรือไม่
กระหม่อมหน้า
กระหม่อมหน้าจะเล็กลงเรื่อยๆและจะปิดที่อายุ9-18 เดือน
การเจริญเติบโตของศีรษะ(เส้นรอบศีรษะ)
เส้นรอบศีรษะเด็ก โดยประมาณ
แรกเกิด 35ซม.
4เดือน 40ซม.
1ปี 45ซม.
2ปี 47ซม.
5 ปี 50ซม.

คลินิก สุขภาพเด็ก โดยพญ.สุรีย์พร กอบเกื้อชัยพงษ์

10 วิธีสร้างสายใยรักจากแม่สู่ลูก

10 วิธีสร้างสายใยรักจากแม่สู่ลูก


การสานสัมพันธ์กับลูกน้อยเป็นกระบวนการทางธรรมชาติซึ่งแท้ที่จริงแล้วมีอะไรอีกมากมายที่มากกว่าการประสานสานสายตากันระหว่างคุณแม่และลูกน้อย การมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าตัวน้อยผ่านสัมผัสทั้งห้าตั้งแต่แรกเกิดเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาของลูก ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาพร้อมกับการดูแลเอาใจใส่ช่วยสร้างสายใยระหว่างแม่และลูกน้อย


ทุกวันนี้สามารถรับรู้พัฒนาการทุกช่วงของทารกในครรภ์ได้ และสิ่งที่ตามมาคือความยิ่งใหญ่ในการสร้างสายสัมพันธ์กับลูกน้อยที่ยังอยู่ในครรภ์ 'ลูบท้องเมื่อลูกถีบท้อง ร้องเพลงโยกตัวเบาๆ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้คุณแม่อารมณ์ดีแล้ว แต่คุณลูกก็จะคุ้นเคยกับเสียงของแม่และรู้สึกถึงท่วงทำนอง' Zita West ผู้เขียนหนังสือ Your Pregnancy Companion อธิบาย

'น้ำนมแม่เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดในการสร้างสายใยรักจากแม่สู่ลูก' Clare Byam-Cook อดีตนางพยาบาลผดุงครรภ์และผู้เขียนหนังสือ What To Expect When You're Breastfeeding….And What If you Can't 'การให้นมลูกด้วยตัวเองช่วยกระตุ้นการหลั่งอ๊อกซิโตซิน หรือที่รู้จักกันดีว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความผูกพัน' การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยกระตุ้นการหลั่งเอ็นดอร์ฟินที่นำไปสู่ความรู้สึกพึงพอใจและความสุข

'ทารกแรกเกิดส่วนมากชื่นชอบการอยู่ในน้ำ น้ำมีสภาพแวดล้อมเหมือนกับครรภ์มารดา' Sally Randle นางพยาบาลผดุงครรภ์อิสระกล่าว 'เด็กแรกเกิดมักจะผ่อนคลายเมื่ออยู่ในน้ำ' เด็กๆ ชื่นชอบการอาบน้ำและพบว่าแสงและเงาสะท้อนจากน้ำที่เห็นด้วยตามันน่าดึงดูดใจ และเป็นช่วงเวลาที่ผ่อนคลาย เพลิดเพลิน การเล่นน้ำเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมที่จะสานสายใยรักทั้งกับพ่อและแม่ สิ่งใดที่สร้างความสุขได้ก็ยิ่งเพิ่มความผูกพันให้แน่นแฟ้น

การอุ้มลูกเป็นอีกวิธีที่ยอดเยี่ยมในการสร้างความผูกพัน' Sally Randle กล่าว มีเป้อุ้มให้เลือกซื้อมากมาย เลือกสักชิ้นที่เหมาะและช่วยพยุงหลังของคุณ เป้อุ้มช่วยให้สัมผัสกับลูกได้โดยตลอด แต่ก็ช่วยให้มีมือว่างที่จะทำภาระอื่น' งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าเด็กเล็กที่ได้เห็นหน้าพ่อแม่เมื่ออยู่ในรถเข็นเด็กเล็กมีพัฒนาการการสื่อสารได้เร็วกว่าเด็กที่ไม่ค่อยได้เห็นหน้าพ่อแม่

'เราแนะนำให้คุณพ่อและคุณแม่นวดลูกน้อยวันละนิดทุกวัน'Mary Beattie ผู้ฝึกสอนการนวดตัวทารก 'ไม่ใช่เพียงแค่กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียน, การย่อยอาหารและสามารถบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บ เช่น อาการจุกเสียดและลมในท้อง' การนวดตัวช่วยให้พ่อแม่สบตากับลูกน้อยตลอดเวลาและช่วยสร้างสายสัมพันธ์อีกด้วย' Beattie กล่าว 'คุณกำลังเพิ่มการรับรู้จากการแสดงออกทางอารมณ์และท่าทางบนใบหน้า การพูดคุยกับลูกน้อยของคุณตลอดเวลาจะเพิ่มความผูกพันมากขึ้น'

การเข้าร่วมกลุ่มพ่อแม่และเด็กไม่เพียงแต่ให้คุณแม่ได้แบ่งปันประสบการณ์และได้รับการสนับสนุนแต่ยังสร้างสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นระหว่างลูกน้อยในขณะที่นวดตัวลูก'คุณเข้าไปในห้องที่มีกลุ่มคุณแม่กำลังนวดตัวลูก บรรยากาศเป็นไปอย่างสบายๆ' Beattie อธิบาย 'คุณแม่ไม่ต้องกังวลบรรยากาศในห้องเป็นไปอย่างอบอุ่น'

สัปดาห์แรกๆ หลังจากคลอดลูกอาจจะเป็นเวลาที่ยุ่งสำหรับพ่อแม่ในการปรับตัวเองให้เข้ากับชีวิตใหม่ การต้อนรับมิตรสหายและครอบครัวที่พร้อมใจกันมาเยี่ยมลูกน้อย หาเวลาให้ตัวคุณเองได้อยู่กับลูกน้อย ป้อนนม เปลี่ยนผ้าอ้อม งานวิจัยของญี่ปุ่นรายงานว่าเด็กแรกเกิดจดจำกลิ่นของแม่ได้ก่อนจะแยกแยะหน้าแม่จากการมองเห็นด้วยตา คอยอยู่ใกล้ลูกหลังจากให้ลูกดูดนมตัวเองหรือนมจากขวด เพื่อให้เจ้าตัวน้อยได้กลิ่นจากตัวคุณ

งานวิจัยที่ทำการวิจัยกับพ่อแม่ในสก๊อตแลนด์แนะนำว่าสายสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกน้อยมีการพัฒนาตามลำดับ เริ่มแรกเด็กแรกเกิดจะมีความสุขที่ได้รับความใส่ใจจากใครก็ตามที่เลี้ยงดู แต่เมื่อมีพัฒนาการด้านการตอบสนองและประสาทสัมผัส พวกเขาสามารถแยกแยะความแตกต่างว่าใครเป็นแม่หรือผู้เลี้ยงเด็ก ราวๆ เจ็ดเดือนไปแล้วลูกน้อยที่ห่างจากอกแม่จะโยเยและระวังคนแปลกหน้า




เจ้าตัวน้อยจะจดจำเสียงได้ เสียงใครคนหนึ่งที่คุ้นเคยเมื่ออยู่ในครรภ์ เมื่อถึงเวลาก็จะจำหน้าแม่ได้ คุณสามารถเรียนรู้ช่วงเวลาสำคัญๆ เมื่อลูกน้อยเติบโตขึ้น และพวกเขาได้รับการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ต่างๆ เมื่อลูกๆ เต้นก็เต้นไปกับพวกเขาด้วย หาเพลงสักเพลงกล่อมให้ฟังเมื่อส่งลูกๆ เข้านอน หรือเปิดเพลงฟังแล้วโยกตามเมื่อลูกน้อยยังอยู่ในครรภ์

ลูกน้อยซึมซับข้อมูลตลอดเวลา หาหนังสืออ่านให้ฟัง อาจจะใช้เวลาช่วงก่อนเข้านอนก็ได้ ท่วงทำนองน้ำเสียงของคุณจะทำให้พวกเขานิ่ง แม้แต่เป็นคำที่ไม่มีความหมายก็ตาม เลือกนิทานที่มีสีสันเพื่อดึงความสนใจและสร้างนิสัยการอ่านให้กับทั้งคู่ คุณก็ทำหนังสือของตัวเองด้วยมีภาพอัลตร้าซาวนด์ และช่วงเวลาสำคัญของเจ้าตัวน้อยในวันแรกที่บ้าน ซึ่งพวกเขาคงจะเพลิดเพลินเมื่อได้มาเห็นตอนโต







วิธีจัดการความเครียดของคุณแม่มือใหม่

วิธีจัดการความเครียดของคุณแม่มือใหม่

คุณรู้สึกเหนื่อยล้า บ้านวุ่นวาย ผมเผ้ากระเซอะกระเซิง ลูกของคุณร้องไม่ยอมหยุด ไม่ต้องแปลกใจคุณอยู่ในภาวะขวัญหนีดีฝ่อ มาดูกันว่าจะช่วยให้คุณแม่มือใหม่รอดจากภาวะความเครียดหลังคลอดได้อย่างไร

'สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้คุณแม่มือใหม่วิตกกังวลมาจากปัญหาหลายอย่างที่เข้ามาจนไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรดี หรือไม่รู้ว่าเรื่องไหนสำคัญที่สุด' Clare Delpech จาก The Association for Post-Natal Illness (www.apni.org) กล่าว 'ความกังวลเรื่องงานบ้านหรืองานก่อนหน้านี้หรือปัญหาอื่นเป็นที่เข้าใจได้ แต่สิ่งที่สำคัญนั่นคือคุณแม่มือใหม่ต้องดูแลตัวเองโดยรับประทานอาหารที่ดี พูดคุยกับเพื่อนและครอบครัว ซึ่งจะทำให้เธอรับมือกับลูกน้อยคนใหม่ของเธอได้ดี'


คุณแม่มือใหม่บางคนบอกว่าพวกเธอรู้สึกโชคดีถ้าหากว่าพวกเธอสามารถท่องเที่ยวในที่สุดหรูได้ในบางวัน เป็นอีกวิธีที่พ่อแม่มือใหม่สามารถทำได้ คำแนะนำง่ายๆ 'ความกระฉับกระเฉง' เป็นยาต้านความรู้สึกซึมเศร้าได้ ลองกำหนดเป้าหมายเล็กๆ ที่ทำได้จริงในแต่ละวัน อย่างเช่น 'ฉันจะอาบน้ำทุกวัน' แค่นี้ก็พอแล้ว เมื่อคุณและเจ้าตัวน้อยอยู่บ้านเพียงลำพัง

Clare กล่าวว่า 'บางครั้งคุณแม่มือใหม่ก็อยากจะห่างลูกน้อยบ้าง' ถ้าหากมีเพื่อนหรือครอบครัวที่พอจะมาช่วยเลี้ยงได้ หรือคุณสามีเมื่อกลับถึงบ้านแล้วผลัดกันเลี้ยงลูก จะเป็นประโยชน์กับคุณแม่ทั้งทางร่างกายและจิดใจที่ได้พัก 'อาจจะเดินสูดอากาศหรือแช่น้ำอุ่น ซึ่งจะช่วยให้เธอจัดการกับความเครียดได้ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด'


แม้จะต้องให้ความสำคัญกับ 'กิจวัตรประจำวัน' เลี้ยงลูก, นอน และรับมือกับลูกน้อย คุณแม่มือใหม่ก็ควรหาวันของตัวเองที่แตกต่างจากวันอื่นเท่าที่จะทำได้ 'ทำอะไรที่แปลกไปบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณอยู่กับลูกที่บ้าน' Clare แนะนำ พยายามนัดเจอเพื่อนดื่มกาแฟ หรือพาลูกเดินเล่นนอกบ้าน เดินนอกเส้นทางบ้าง และแวะชมสถานที่ที่คุณไม่เคยไปมาก่อน


คนที่คุณรักจะคอยพูดปลอบโยนและคอยช่วยเหลือเมื่อลูกของคุณเกิด ให้พวกเขาช่วยเหลือคุณทุกอย่าง 'เรื่องที่น่าเลวร้ายอย่างหนึ่งสำหรับคุณแม่มือใหม่คือรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีใครคอยช่วยเหลือ ไม่มีใครคุยด้วย' Clare เสริม 'การพูดคุยเป็นเทคนิคที่ดีในการรับมือกับความเครียด ทว่าจะดีไม่น้อยหากได้พูดคุยกับญาติหรือเพื่อนฝูงอย่างเห็นหน้าเห็นตากันด้วย'


'การรักษาความภาคภูมิใจในตนเองของคุณเป็นปัจจัยสำคัญในการหลีกเลี่ยงภาวะซึมเศร้า' Clare กล่าว 'อาจจะเป็นเรื่องยากในช่วงแรกเพราะทุกอย่างมุ่งไปที่เจ้าตัวน้อย พลังของคุณจะลดลง แต่เมื่อคุณได้ออกไปข้างนอกและดูแลตัวเองคุณจะรู้สึกดีขึ้น ไปช้อปปิ้งหรือนัดช่างทำผมทำผมตอนค่ำ'

คำแนะนำจากกลุ่มคุณแม่ก่อนและหลังคลอดก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่คอยสนับสนุนไปพร้อมกับเพื่อนและครอบครัว มีกลุ่มตามศูนย์ดูแลสุขภาพท้องถิ่นที่น่าเชื่อถือ ตามคลีนิค หรือจะจับเป็นกลุ่มส่วนตัว เป็นเรื่องที่ดีที่คุณแม่มือใหม่จะออกจากบ้านและได้พูดคุยกับคุณแม่คนอื่นหรือผู้เชี่ยวชาญ บางกลุ่มมี 'วิทยากรรับเชิญ' รวมถึงผู้ให้บริการดูแลหลังคลอด, ที่ปรึกษาด้านโภชนาการ และแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์

'การเปลี่ยนแปลงจากคู่สามีภรรยามาเป็นพ่อแม่สามารถเกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์' Denise Knowles ผู้ให้คำปรึกษาครอบครัวให้กับองค์กร Relate.org.uk อธิบาย ถ้าคุณไม่มีความสุขกับความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน หาเวลาคุยกัน เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมกับคุณทั้งคู่ เมื่อคุณไม่ต้องดูแลลูก หิว หรือเหน็ดเหนื่อย 'พยายามหลีกเลี่ยงการโต้แย้ง หรือการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ให้อธิบายว่าคุณรู้สึกเช่นไร และสิ่งใดที่คุณอยากให้ช่วยจริงๆ ณ ตอนนั้น' Knowles กล่าวเสริม

'ทานอาหารเพื่อสุขภาพ ความแข็งแรง และความสุข' Clare แนะนำ 'หลีกเลี่ยงการทำอะไรที่สุดโต่งอย่างเช่นการโหมลดน้ำหนักหลังคลอด คุณยังต้องการสารอาหารที่มีประโยชน์ พยายามทานอาหารสดโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้และผัก ทานแต่น้อยแต่ทานบ่อยทั้งวัน ทานน้อยแต่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างผลไม้และผักสดซึ่งช่วยฟื้นฟูร่างกายของคุณ ถ้าคุณทานอาหารสดก็ช่วยเรื่องลดน้ำหนักได้เป็นอย่างดี' ทานช็อคโกแล็ตพอประมาณช่วยให้อารมณ์ดีและเพิ่มพลังงานอีกด้วย

ในยุคอินเทอร์เน็ตมีร้านขายของออนไลน์, กระทู้คุณแม่มือใหม่, ห้องสนทนา และแม้กระทั่งเว็บไซต์แลกเปลี่ยนอุปกรณ์สำหรับทารกแรกเกิดซึ่งให้คุณแม่มือใหม่ที่อยู่บ้านได้ติดต่อถึงกัน สามารถติดต่อกับคู่ของคุณ ถ้าพวกเขายังอยู่ที่ทำงาน อีเมล, Skype และเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ก็ยังเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนข่าวสารเด็กแรกเกิด และเรื่องซุบซิบต่างๆ



th.msn.com










การออกกำลังกายหลังคลอด กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

การออกกำลังกายกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

"อุ้งเชิงกรานเป็นแกนกลางที่สำคัญของร่างกายมีลักษณะคล้ายเปลเด็กที่ช่วยยึดกระดูกเชิงกรานและพยุงอวัยวะในช่องท้อง เมื่อบริเวณนี้อ่อนแอหรือได้รับการกระทบกระเทือนซึ่งมักเกิดจากการคลอดลูก อาจมีปัญหาอื่นตามมาเช่น การกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ความสุขในการมีเพศสัมพันธ์ลดลง ปัญหาช่องท้อง และปวดหลัง

คุณเริ่มออกกำลังกายอุ้งเชิงกรานได้เลยหลังคลอด เริ่มต้นได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นประโยชน์กับคุณ การออกกำลังกายจะช่วยให้แผลจากการคลอดและช่องคลอดหายเร็วขึ้นหลังคลอดบุตร


การออกกำลังกายอุ้งเชิงกรานเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดหลังคลอด เราพูดคุยกับ James King ผู้เชี่ยวชาญการออกกำลังกายหลังคลอดและผู้ฝึกสอนการออกกำลังกายส่วนตัวแนะนำ"

ขมิบกล้ามเนื้อบริเวณช่องคลอด เหมือนตอนกลั้นปัสสาวะเมื่ออยู่ในห้องน้ำ มดลูกหดตัวขึ้นและกลับเข้าข้างใน หากวางมือบนหน้าท้องคุณจะไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวใดๆ แต่ละครั้งที่ขมิบให้คุณกลั้นหายใจ 5 วินาที ทำติดต่อกันช้าๆ 10-15 ครั้ง แล้วทำไปจนครบแบบนี้ 5 ครั้งต่อวัน


ใช้แขนและฝ่ามือยันพื้น หัวไหล่และข้อศอกวางตั้งตรง หู ไหล่ สะโพก เข่า และปลายเท้าอยู่ในแนวราบเดียวกัน ยกตัวขึ้นให้น้ำหนักลงที่แขนและปลายเท้า แขม่วท้อง ไม่ยกสะโพกหรือก้นขึ้น เหยียดขาตรงระนาบไปกับพื้น พยายามอยู่ในท่านี้ 20 วินาที


การฝึกออกกำลังกายจะช่วยให้กล้ามเนื้อกลับมากระชับ การฝึกท่าลุกนั่ง (Squat) เป็นอีกท่าที่เป็นประโยชน์ช่วยกระชับก้น ต้นขา และน่อง ให้ทำท่าคล้างจะนั่งยองๆ เท้าและไหล่แยกกันเล็กน้อย หายใจเข้าลึกๆ เกร็งอุ้งเชิงกราน ค่อยๆ โยกสะโพกไปด้านหลัง ลดสะโพกลงจนอยู่ในระดับเดียวกับเข่า คลายอุ้งเชิงกราน วางเท้าเป็นแนวตรงบนพื้น เข่าชี้ไปข้างหน้า หลังตรงอกตั้ง ทำท่านี้ซ้ำ 10-15 ครั้ง


มาดูกันว่ากล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานของคุณกระชับขึ้นแค่ไหน ทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำลองกลั้นและปล่อยปัสสาวะ ปล่อยปัสสาวะออกบางส่วนแล้วกลั้นปัสสาวะไว้ ถ้าคุณทำได้ หมายความว่าอุ้งเชิงกรานของคุณแข็งแรง

ความรู้สึกหลังคลอด

สิ่งที่คาดหวัง

หลังจากเจ้าตัวน้อยลืมตาดูโลก ไม่ว่าจะเป็นความอึดอัด ความเจ็บปวด ความวิตกกังวล ความเหนื่อยล้าต่างก็ถาโถมมาที่คุณ คุณแม่มือใหม่อาจจะตกใจอยู่บ้างกับอากัปกิริยาของเจ้าตัวน้อย การเตรียมตัวล่วงหน้าจะช่วยเอาชนะอุปสรรค์ต่างๆ ได้ไม่ยากเลย

คุณจะรู้สึกสบายใจหลังจากคลอดลูก ร่างกายจะหลั่งเอ็นดอร์ฟินเป็นยาบรรเทาปวดตามธรรมชาติ รวมถึงการผ่อนคลายที่เป็นผลจากยาบรรเทาอาการปวดก็ช่วยทำให้คุณรู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างดีขึ้น


อย่างไรก็ตามเมื่อยาค่อยๆ หมดฤทธิ์ คุณจะเริ่มรู้สึกถึงผลที่เกิดขึ้นเต็มๆ ตลอดช่วงการตั้งครรภ์และช่วงคลอดบุตร 'คุณรู้สึกเหนื่อยล้าอย่างที่สุดในช่วงเวลาที่ลูกน้อยของคุณต้องการคุณมากที่สุด' Clare Delpech จาก The Association for Post-Natal Illness อธิบาย 'ถึงแม้คุณจะพยายามต่อสู้ก็ตามแต่แท้จริงแล้วคุณร่างกายของคุณต้องการการฟื้นฟูและพักผ่อนอย่างเต็มที่'


เยื่อบุฝีเย็บระหว่างช่องคลอดและทวารหนักสามารถฉีกขาดได้ระหว่างการคลอด หมอสูตินารีแพทย์ที่ทำคลอดให้จะทำการตัดฝีเย็บเพื่อขยายปากช่องคลอด แล้วเย็บหลังจากทารกออกมาแล้ว คุณแม่มือใหม่ได้รับคำแนะนำให้ประคบเย็น หรือยาทาภายนอกตรงบริเวณฝีเย็บหลังจากเย็บฝีเย็บแล้ว

เมื่อลูกน้อยของคุณออกมาแล้ว หน้าอกของคุณจะมีน้ำนมเหลือง (Colostrum) ไหลออกมา ซึ่งเต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการเพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของลูกน้อย 'หน้าอกของคุณจะนิ่มในช่วงแรก จากนั้นเต้านมจะแข็งขึ้น บวม และนุ่ม' Zita West ผู้เขียนหนังสือ Your Pregnancy Companion อธิบาย ประคบเย็นช่วยผ่อนคลายความปวด หรือจะเอาถุงถั่วแช่เย็นห่อในผ้าเช็ดตัวประคบก็ใช้ได้เช่นกัน คุณแม่บางคนใส่ชุดชั้นในสำหรับให้นมเพื่อช่วยเวลานมคัด


คุณแม่มือใหม่มักจะมีน้ำคาวปลาไหลออกมาหลังคลอดซึ่งอาจจะมีออกมามากในช่วงหนึ่งถึงสองสัปดาห์หลังคลอด หน้าท้องบริเวณที่ลูกน้อยเจริญเติบโตจะนิ่มและยื่นออกมาในบางเวลา คุณแม่บางคนอาจจะยังเจ็บกับมดลูกหดรัดตัวอยู่บ้าง ระหว่างให้นมลูกร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนให้น้ำนมไหล ให้ใช้แผ่นซับน้ำนมซับไว้

'อารมณ์เศร้าสามารถทำให้คุณรู้สึกซึมเซาและหวาดกลัว' Delpech กล่าว สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงไม่กี่วันหลังจากคลอดลูกและรวมทั้งความเหนื่อยล้าทางร่างกายทำให้คุณรู้สึกเช่นนี้ได้ 'พยายามไม่แบกภาระเรื่องงานบ้าน การทำงาน หรืออะไรก็ตามในเวลานี้ อาจจะเห็นแก่ตัวไปบ้าง ให้นึกถึงตัวคุณและลูกน้อยก่อนอันดับแรก'

ช่วงเวลาในการฟื้นฟูจากการผ่าคลอดมักจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมสภาพแวดล้อม ผู้หญิงที่ผ่าคลอดฉุกเฉิน ใช้เวลาในการผ่าคลอดมากอาจจะใช้เวลาฟื้นฟูจากความเจ็บและอารมณ์ช็อกนานกว่าการคลอดแบบธรรมชาติ แม้คุณจะได้รับการดูแลอาการเจ็บหลังคลอดอย่างดี คุณจะมีน้ำคาวปลาไหลในช่วงสองสัปดาห์หลังคลอดอีกด้วยพร้อมกับอาการปวดท้อง

ความไม่สมดุลของสารเคมีและฮอร์โมนในตัวคุณแม่มือใหม่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการแปลกๆ บางครั้งก็มีท่าทางตื่นกลัว บางคนมีเหงื่อออกมาเมื่อเมตาโบลิซี่มเผาผลาญมากขึ้นในช่วงให้นมลูก บางคนผมร่วง คุณควรปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงจากระดับธาตุเหล็กที่ลดลงมากด้วย


'เว้นแต่คุณแม่มือใหม่ได้รับคำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงให้มีเซ็กส์ได้ เวลาที่จะกลับมามีเซ็กส์อีกครั้งของผู้ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของเธอ' แซลลี่ เรนเดิล นางพยาบาลผดุงครรภ์อิสระกล่าว 'ถ้าหากเธอผ่าคลอดจะเจ็บแผลและขยับตัวลำบาก ถ้าเย็บฝีเย็บคงต้องคอยจนกว่าหาย' ทั่วไปจะอยู่ประมาณหกสัปดาห์แต่ก็ขึ้นอยู่กับอาการเจ็บแผลเย็บ บางคนอาจจะนานกว่านั้น 'จิตใจของผู้หญิงยากแท้หยั่งถึงจะบอกว่าได้เวลาไหนที่พวกเธอต้องการมีเพศสัมพันธ์อีกครั้งเนื่องจากภาพลักษณ์ของตัวเอง ความเหนื่อยล้า และความรู้สึกของความเป็นคุณแม่มือใหม่

'ร่างกายส่วนอื่นๆ อย่างกระเพาะปัสสาวะก็ทำงานหนักในช่วงตั้งครรภ์และตอนคลอดด้วย' ซิต้า เวสต์ กล่าว อาจจะทำให้มีปัสสาวะเล็ดขณะที่ไอหรือหัวเราะ กล้ามเนื้อค่อยๆ ฟื้นฟู กระเพาะปัสสาวะอาจจะมีอาการติดเชื้อได้หลังคลอด ควรดื่มน้ำมากๆ และปรึกษาแพทย์หากมีสัญญาณการติดเชื้อ




สัญญาณเตือนใกล้คลอด

สัญญาณเตือนใกล้คลอด

ผู้หญิงแต่ละคนมีวิธีการเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอดบุตรแตกต่างกันไป การเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์เป็นสิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจ มีคำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับคุณแม่ใกล้คลอด


เริ่มปวดหลังเป็นอาการแรกที่บ่งชี้ว่าลูกน้อยใกล้อยากออกมาลืมตาดูโลกแล้ว คุณแม่จะมีอาการเจ็บหน่วงเหมือนช่วงมีประจำเดือน 'ผู้หญิงมักจะปวดหลังเมื่อตั้งครรภ์' Dr Jenny Sutcliffe ผู้เขียนหนังสือ The Back Bible กล่าว 'เมื่อฮอร์โมนรีแลกซิน (Relaxin) หลั่งออกมาช่วงใกล้คลอดเพื่อช่วยเอ็นอุ้งเชิงกรานหย่อนตัวลง เป็นผลให้ปวดเมื่อยตามข้อต่อกระดูกสันหลังได้' ความปวดเมื่อนี้จะยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อลูกน้อยเลื่อนลงมาอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมคลอด

เมื่อใกล้คลอดลูกน้อยจะเคลื่อนตัวลงในอุ้งเชิงกราน การที่เด็กเคลื่อนตัวลงอุ้งเชิงกรานจะทำให้ท้องลดลง คุณแม่หายใจได้ดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่าลูกน้อยของคุณเปลี่ยนตำแหน่ง คุณแม่อาจจะเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นเพราะเจ้าต้วน้อยเคลื่อนตัวมาอยู่ใกล้กระเพาะปัสสาวะ แต่การเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ไม่ใช่จะเกิดขึ้นกับลูกน้อยในครรภ์ทุกคน เด็กบางคนจะคอยจนกว่ามดลูกหดรัดตัวแล้วจึงค่อยๆ เคลื่อนตัวเปลี่ยนตำแหน่ง

วันสำคัญมาถึงแล้ว ฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) เริ่มกระจายเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งจะเร่งให้การคลอดลูกเร็วขึ้น แต่ก็มีผลข้างเคียงอยู่เหมือนกัน คุณแม่อาจจะมีอาการท้องเสีย เป็นการล้างลำไส้ เตรียมพร้อมสู่การเริ่มคลอดบุตร 'นางพยาบาลผดุงครรภ์จะคอยเตรียมทุกอย่างไว้พร้อม คุณแม่มือใหม่ไม่ต้องกังวล' Sally Randle นางพยาบาลผดุงครรภ์อิสระอธิบาย


เป็นเรื่องปกติสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ที่จะต้องเจอกับภาวะการซ้อมบีดรัดตัวของมดลูก (Braxton Hicks Contractions) ในช่วงก่อนคลอด และจะเจ็บถี่ยิ่งขึ้นเมื่อใกล้คลอดจริง 'การหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกจะถี่ขึ้นเรื่อยๆ' Jane Munro นางพยาบาลผดุงครรภ์และที่ปรึกษาให้กับวิทยาลัย Royal College of Midwives อธิบาย อาการเจ็บท้องถี่จะเจ็บไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเจ้าตัวน้อยลืมตาดูโลก

มูกเลือดออกจากช่องคลอดเป็นสัญญาณเตือนอีกข้อว่าใกล้เวลาลูกน้อยจะลืมตาแล้ว มูกเลือดป้องกันสิ่งแปลกปลอม เมื่อใกล้คลอดปากมดลูกเริ่มเปิดทำให้มูกเลือดมีการแตกทำให้มีเลือดออกมาพร้อมมู

'น้ำเดินหรือถุงน้ำคร่ำแตก มีลักษณะเป็นน้ำใสไหลออกมาจากช่องคลอด' Jane Munro กล่าว เป็นอาการบ่งชี้ว่าถึงเวลาที่คุณแม่จะคลอดแล้ว นางพยาบาลผดุงครรภ์จะรีบเข้ามาช่วยเหลือเพราะจะคลอดแน่แล้ว


ทั้งคุณพ่อและคุณแม่มือใหม่ควรมีการวางแผนเตรียมคลอดบุตรว่าจะคลอดที่บ้านหรือที่โรงพยาบาล เมื่อคุณแม่เริ่มมีอาการมดลูกหดรัดตัวทุกๆ 5 นาที จนกระทั่งถี่ขึ้นทุกๆ นาที อาการดังกล่าวบ่งชี้ว่าจะคลอดแน่แล้ว ควรโทรเรียกนางพยาบาลผดุงครรภ์หรือโทรแจ้งทางโรงพยาบาลว่าอยู่ระหว่างเดินทางไปคลอด

นางพยาบาลผดุงครรภ์จะดูว่าปากมดลูกเปิดกว้างแค่ไหน ปากมดลูกเปิด 3 เซ็นติเมตรยัง เป็นระยะที่ปากลูกเริ่มเปิด คุณแม่จะอนุญาตให้กลับไปพักที่บ้านก่อน 'คุณแม่ควรเดินและดื่มน้ำมาก' Munro อธิบาย มดลูกหดรัดตัวถี่ขึ้น ให้ลองใช้เทคนิคการช่วยหายใจและผ่อนคลายตามที่ได้ฝึกมาก 'เมื่อปากมดลูกเปิดเต็มที่ 10 เซ็นติเมตร ถึงเวลาที่ลูกน้อยจะออกมาแล้ว' Munro เสริม



การรักษาอาการแพ้ท้อง

รวมเทคนิคการกินอาหาร รักษาอาการแพ้ท้อง

อาการแพ้ท้องสำหรับว่าที่คุณแม่หลายๆคนจะย่ำแย่ที่สุดในช่วงเช้า และค่อยๆบรรเทาลงในภายหลัง แต่บางครั้งมันก็อาจจะกำเริบขึ้นได้ไม่ว่าจะเวลาไหน แถมจะยังคลื่นไส้ยาวต่อไปได้ทั้งวัน ถ้าคุณมีอาการแพ้ท้องและอาเจียนที่ไม่ได้รุนแรงมากนัก บางทีการเปลี่ยนแปลงการกินอาหารง่ายๆอาจจะช่วยบรรเทาอาการลงได้บ้าง ไปค้นพบวิธีขจัดอาการแพ้ท้องจากนักโภชนาการตัวจริง แครินา นอร์ริส ได้เลย

1.'กินอาหารทีละน้อยๆ แต่หลายๆครั้งในช่วงระหว่างวัน ให้ท้องไม่ว่าง' นักโภชนาการ แครินา นอร์ริส กล่าว คาร์โบไฮเดรตอาจช่วยรองท้องได้ 'แต่อาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนนั้นจะช่วยลดอาการแพ้ท้องได้ดีที่สุด ดังนั้นก็อย่าลืมเพิ่มเนื้ออกไก่เข้าไปในมื้ออาหารด้วย'


2.เตรียมของว่างง่ายๆอย่างพวกแครกเกอร์สไว้ใกล้ๆมือ เวลาตื่นมาก็เคี้ยว เล่นซัก 2-3 ชิ้น แล้วนอนพักอีกซัก 20 นาทีก่อนจะลุกจากเตียง 'ของว่างง่ายๆแบบแครกเกอร์สสามารถช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้ถ้าเกิดต้องตื่นมากลางดึกเพราะมีอาการแพ้ท้อง' แครินาแนะนำ

3.'อาหารมันจัดต้องใช้เวลาในการย่อยมากกว่าอาหารทั่วไป' แครินาอธิบาย 'ดังนั้นมันก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสระคายเคืองระบบย่อยอาหารของคุณได้มากขึ้น' เช่นเดียวกับอาหารรสเผ็ดจัด หรือเปรี้ยวมากๆด้วย


4.พยายามหลีกเลี่ยงอาหารและสิ่งที่มีกลิ่นทำให้เกิดอาการแพ้ท้อง หรือถ้าคุณบังเอิญแพ้มันแทบทุกอย่าง ก็คงต้องพยามหาอะไรก็ได้ที่คุณชอบมากินบ้าง แม้ว่ามันจะไม่ถูกหลักโภชนาการมากนักก็ตาม 'หรืออาจจะลองกินอาหารรสจืดๆดู' แครินาบอก 'กินอาหารที่เย็นแล้วหรือเท่ากับอุณหภูมิห้อง เพราะอาหารร้อนๆจะให้กลิ่นได้แรงมากขึ้น'


5.'ขิงมีฤทธิ์ช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้เป็นอย่างดี' แครินาแนะนำ บดรากขิงใส่น้ำร้อน แล้วค่อยๆจิบทีละนิดๆ ช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้


6.'พยายามบริโภคอาหารที่มีวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย ทดแทนสารอาหารที่คุณควรได้ระหว่างมีอาการแพ้ท้อง' แครินากล่าว 'อาจจะลองปรึกษาแพทย์ของคุณดูว่าสามารถกินวิตามินเสริมอะไรก่อนคลอดได้บ้าง ระวังอย่าบริโภคธาตุเหล็กมาก เพราะมันจะไปรบกวนระบบย่อยอาหาร'

7.'อย่าลืมกินน้ำบ่อยๆ' แครินาแนะนำ 'อย่ากินน้ำทีละมากเกินไป เพราะจะทำให้คุณอิ่มน้ำจนไม่อยากกินอาหารได้' วิธีที่ดีก็คือจิบน้ำบ่อยๆตลอดทั้งวัน

8.ถ้าคุณอาเจียนมากๆจนถึงขั้นไม่สามารถกลืนอาหารได้เลย 'ให้ลองดื่มน้ำเกลือแร่ที่มีน้ำตาลกลูโคส, เกลือ และธาตุโพแทสเซียม เพื่อทดแทนแร่ธาตุและของเหลวที่ร่างกายสูญเสียไป' แครินากล่าว

สัญญาณควรจับตาระหว่างตั้งครรภ์

'กล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกายจะค่อยๆเปลี่ยนแปลงไประหว่างที่คุณกำลังตั้งครรภ์' ด็อกเตอร์ Jenny Sutcliffe นักกายภาพบำบัด เจ้าของหนังสือ The Back Bible กล่าว 'กล้ามเนื้อช่วงหลังของคุณจะต้องรับหน้าที่หนักในการรองรับน้ำหนักของทารกที่เพิ่มขึ้นๆ และขนาดของหน้าอกที่เพิ่มขึ้นก็อาจเปลี่ยนจุดสมดุลของร่างกายไปได้' คุณอาจช่วยลดอาการปวดได้ด้วยการนอนหันข้าง โดยใช้หมอนรองใต้ท้อง ระวังเวลายกหรืองอตัว ออกกำลังกล้ามเนื้อเชิงกรานเป็นประจำ

'อาการหมดแรงและแพ้ท้องในช่วงที่เพิ่งตั้งครรภ์แรกๆอาจทำให้แปลกใจได้ไม่น้อย' Zita West ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสืบพันธุ์ ผู้เขียนหนังสือ Your Pregnancy Companion กล่าว 'ผู้หญิงหลายๆคนอาจมีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับที่ทำงาน ในช่วงที่ยังตั้งครรภ์ไม่ถึง 12 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเวลาที่ร่างกายของผู้หญิงกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก และพวกเธออาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีพอจากที่ทำงาน จนกว่าคนอื่นๆจะรู้ว่าเธอตั้งครรภ์'

อาการอยากกินอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยอาจจะดูไม่ค่อยเหมาะสมกับคนตั้งครรภ์เท่าไหร่นัก แต่ว่าที่คุณแม่หลายๆคนก็ต้องเผชิญกับอาการที่จู่ๆก็เกิดอยากกินมันฝรั่งขึ้นมาแบบไม่มีเหตุผล ซึ่งอาการแบบนี้นี่เองที่เป็นสัญญาณบอกว่าคุณอาจจะท้องก็ได้ 'ผู้หญิงหลายๆคนจะเกิดอาการอยากกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงในช่วงแรกเริ่มของการตั้งครรภ์' Zita West กล่าว 'หรือหากจู่ๆน้ำหนักก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นก็เป็นสัญญาณว่าคุณอาจจะกำลังเข้าสู่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ก็ได้'

'ระหว่างที่ตั้งครรภ์ จะมีสารฮอร์โมนชนิดหนึ่งชื่อว่า รีแลกซิน อยู่ในร่างกาย' ด็อกเตอร์ Sutcliffe กล่าว มันถูกสังเคราะห์ขึ้นภายในรก มีผลทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นผ่อนคลายเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการคลอด 'ผู้หญิงบางคนอาจจะมีอาการเจ็บปวดที่บริเวณเชิงกรานหรือสะโพกระหว่างตั้งครรภ์ หรือในช่วงใกล้คลอด' เพื่อลดอาการปวดดังกล่าว ขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการนั่งหลังงอและยกของหนัก และถ้าเป็นไปได้ หลังจากคลอดบุตรแล้วก็ควรไปเข้าร่วมคลาสบริหารกล้ามเนื้อด้วย


คุณแม่บางคนอาจต้องเผชิญกับอาการแพ้ท้องและอาเจียนในช่วงแรกๆของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก 'ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าอะไรคือสาเหตุของอาการแพ้ท้อง แต่คาดกันว่าความเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างที่ร่างกายต้องเผชิญทำให้ฮอร์โมนขาดสมดุลไป' เจน มันโร นางพยาบาลผดุงครรภ์ประจำวิทยาลัยรอยัลคอลเลจในอังกฤษมากว่า 20 ปีกล่าว 'อาหารบางชนิดอาจทำให้คุณรู้สึกแพ้ท้องมากขึ้นได้ รวมทั้งเสื้อผ้าที่คับแน่นจนเกินไป หากคุณกินอาหารน้อยๆแต่บ่อยๆ จะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องลงได้'


หนึ่งในฮอร์โมนที่พุ่งพล่านที่สุดในช่วงของการตั้งครรภ์ก็คือ โปรเจสเตอโรน เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์ปั่นป่วนระบบย่อยอาหารให้คุณท้องผูกได้ 'คุณอาจจะบรรเทาอาการนี้ลงได้บ้างด้วยการกินอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผักผลไม้สด และดื่มน้ำให้มากๆ' เจน มันโรกล่าว ลองปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลก่อนเลือกใช้ยาระบาย

ไม่แปลกถ้าสีผิวพรรณของว่าที่คุณแม่จะเปลี่ยนไประหว่างช่วงที่ตั้งครรภ์ บางคนอาจจะมีลายเส้นคล้ำๆที่ลากยาวตั้งแต่ท้องน้อยผ่านแนวสะดือขึ้นไปถึงช่วงอก บางคนอาจจะสังเกตได้ว่าผิวบริเวณรอบดวงตา, จมูก และแก้ม นั้นดูคล้ำลงไปบ้าง และการที่มีฮอร์โมนเพศหญิงพุ่งสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ก็อาจทำให้เกิดผื่นคันหรือจุดแดงๆขึ้นตามผิวหนังได้


'ความคิดที่ว่าผู้หญิงท้องจะขี้ลืมและซุ่มซ่ามมากว่าคนทั่วไป เป็นเพียงแค่สิ่งที่คนพูดต่อๆกันมาเท่านั้น' เจน มันโรกล่าว 'เวลาที่คุณเหนื่อยหรือใส่ใจกับลูกของคุณเป็นพิเศษ คุณก็จะไม่มีเวลาไปใส่ใจกับเรื่องอื่นๆเท่าไหร่นัก แต่งานวิจัยก็ได้ชี้แล้วว่าการตั้งครรภ์ไม่ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาในการรับรู้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวเลย'

ผู้หญิงหลายๆคนจะมีขนาดของหน้าอกที่ใหญ่ขึ้นหลายคัพระหว่างตั้งครรภ์ การขยายขนาดมักจะเกิดขึ้นในช่วง 6 - 8 สัปดาห์แรก และต่อไปเรื่อยๆตลอดการช่วงครรภ์ และมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากยอดอกของผู้หญิงจะเกิดการเปลี่ยนสีไปบ้าง อีกทั้งเส้นเลือดใต้ผิวหนังก็จะขยายจนเห็นเด่นชัดมากขึ้นและอาจทำให้รู้สึกเจ็บได้บ้างเป็นบางครั้ง ผมของคุณก็จะหนาและเงางามขึ้น เช่นเดียวกับเล็บที่จะยาวเร็วขึ้นด้วย ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากปริมาณฮอร์โมนเพศหญิงที่พุ่งสูงขึ้นนั่นเอง


อาการจุกเสียดท้องมักจะเกิดกับคนตั้งครรภ์ด้วยเช่นกัน สาเหตุสำคัญมาจากการเจริญของทารกในครรภ์ซึ่งทำให้ช่องท้องแน่นขึ้น ในขณะที่ปริมาณของสารฮอร์โมนทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายลง เพราะเมื่อกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะอาหารผ่อนคลาย มันจะทำให้กรดสามารถไหลย้อนขึ้นมาจนทำให้เกิดอาการจุกเสียด พยายามลดอาหารที่มีรสเผ็ดจัด ช่วยลดทั้งอาการจุกเสียดและท้องอืดที่ว่าที่คุณแม่อาจจะต้องเผชิญได้
















10 ขั้นตอนเตรียมความพร้อมคลอดลูก

ความคิดเรื่องการคลอดบุตรอาจเป็นเรื่องน่าหวาดกลัว คำแนะนำสำหรับคุณแม่ให้ปล่อยวางความสับสนและความเครียด มีขั้นตอนง่ายๆ ที่ช่วยลดความกลัวของคุณโดยไม่มีอันตรายต่อสุขภาพหรือแม้แต่กับลูกน้อยในครรภ์

'คุณแม่ตั้งครรภ์ยอมรับว่ากังวลใจสรีระร่างกายเป็นอย่างแรกในการตั้งท้อง ความเหนื่อยล้า อาการแพ้ท้องตอนเช้า และในบางกรณีก็มีอาการแพ้ท้องในช่วงบ่าย' Dr Gowri Motha กูรูด้านการตั้งครรภ์และนักเขียนบทความให้กับเว็บไซต์ gentlebirthmethod.com กล่าว ในช่วงเวลาตั้งครรภ์ร่างกายอ่อนแอ ควรใส่ใจดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 'หาเวลาว่างหลังจากทำงานบ้านพักผ่อนเพื่อเพิ่มพลัง บรรเทาอาการคลื่นไส้ด้วยการดื่มชาขิงที่นำขิงฝานบางๆ 2 ชิ้นกับน้ำ 2 แก้วต้มให้เดือด 10 นาที แล้วทิ้งไว้ให้เย็น ค่อยๆ จิบ 3 ครั้งต่อวัน'

'นวดตัวไล่ตั้งแต่ส่วนล่างของทรวงอกไปจนถึงกลางท้องช่วงม้าม 10 นาทีทุกวัน' Dr Motha แนะนำ 'ฮอร์โมนที่ผลิตจากรกในการตั้งครรภ์ก็เป็นเหตุให้คลื่นไส้ หุ้มม้ามโตได้เนื่องจากม้ามทำงานหนักในการผลิตเซลเม็ดเลือดแดงใหม่ และยังทำให้เส้นประสาทระคายเคืองซึ่งทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้'

นี่คือสิ่งสำคัญที่คู่สามีภรรยาพึงตระหนักเป็นอย่างแรก ความกลัวจะยิ่งทำให้การคลอดบุตรเจ็บปวดมากขึ้น ความกลัวก่อนการคลอดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก' Zita Westผู้เขียนหนังสือ Your Pregnancy Companion กล่าว 'การเข้าคลาสก่อนคลอดจะมีการพูดถึงขั้นตอนการคลอดบุตรว่าใช้เวลานานแค่ไหน ความกลัวต่อการเจ็บท้องคลอด และเรื่องอื่นๆ ที่ไม่มีใครทราบ คู่สามีภรรยาแต่ละคู่ควรจะปรึกษากับนางพยาบาลผดุงครรภ์เกี่ยวกับความหวาดกลัวต่างๆ ตรงไหนกลัวมากที่สุดอาจต้องใช้วิธีการบำบัดแบบสะกดจิต (Hypnotherapy) ช่วยบำบัดความหวาดกลัวดังกล่าวนี้'

เตรียมตัวให้พร้อมเท่าที่จะทำได้ก่อนคลอด เตรียมของใส่กระเป๋าเดินทางสำหรับคุณและลูกน้อย เลือกเพลงที่อยากจะฟังในช่วงคลอดลูก เตรียมแผนเดินทางกลับบ้านหากคลอดที่โรงพยาบาล 'คุยกับคู่ของคุณให้ชัดเจนว่าอยากให้ช่วยสิ่งไหนบ้างและใครที่คุณอยากให้อยู่ด้วยในห้องคลอด' Motha เสริม

'ให้สามีหรือคู่ของคุณเข้าใจบทบาทของเขาตอนคลอด และการเป็นคุณพ่อมือใหม่ในช่วงสัปดาห์แรกๆ' Sally Randle นางพยาบาลผดุงครรภ์อิสระแนะนำ คลาสก่อนคลอดเป็นวิธีที่ดีสำหรับคุณพ่อมือใหม่เพื่อให้เข้าใจบทบาทของตัวเองได้เร็วขึ้น' Rendle แนะนำ ให้กำลังใจคุณสามีศึกษาหรือกำหนดบทบาทในแผนการคลอดของคุณ ปรึกษาสิ่งที่เขาจะทำได้ถ้าคุณอยากให้เขาช่วยในช่วงที่คลอด ' Rendle เสริม

ความมั่นคงทางจิตใจที่จะรับมือกับความท้าทายในการคลอดลูกนั้นต้องการความพร้อมทางร่างกายสนับสนุนด้วย พูดคุยกับแพทย์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอาหารควบคุมน้ำหนักที่คุณสามารถทานได้ในช่วงตั้งครรภ์ และหาโภชนาการที่ดีที่สุดเพื่อการเจริญเติบโตของลูกน้อย 'แนะนำอาหารควบคุมน้ำหนักที่จะทำให้ทารกคลอดออกมาได้ง่าย' Dr Gotha กล่าว 'ลดอาหารที่มีโปรตีนกลูเตน (Gluten) เพราะจะไปดูดซึมสารอาหารและมีผลต่อการบีบรัดตัวของมดลูก นำไปสู่การชะลอการเปิดปากมดลูกและใช้เวลาการคลอดที่ยาวนานซึ่งจะทำให้เกิดความเครียดต่อแม่และเด็ก'

ออกกำลังกายแบบโยคะ ทำท่าเหมือนแมวเหยียดตัวในช่วงตั้งครรภ์สามารถบรรเทาการปวดหลัง ฝึกเทคนิคการหายใจและการขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานช่วยให้ช่วงตั้งครรภ์รู้สึกสบายขึ้น'เกร็งกล้ามเนื้อจากสะดือไปจนถึงกระดูกสันหลังช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและดีกับร่างกายอีกด้วย' Dr Jenny Sutcliffe ผู้เขียนหนังสือ The Back Bible กล่าว

msn.com

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างตั้งครรภ์

เป็นการดีที่จะหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะมันอาจจะส่งผลกระทบต่อลูกในท้องของคุณก็เป็นได้ หันเตรียมเมนูอาหารระหว่างตั้งครรภ์ให้ถูกหลักกันด้วยความช่วยเหลือจากนักโภชนาการชื่อดัง แคร์รินา นอร์ริส กันดีกว่า


'ตับเป็นแหล่งของวิตามิน เอ ซึ่งถ้าบริโภคมากไปอาจจะส่งผลเกิดความพิการของทารกแรกเกิดได้' แคร์รินาแนะนำ 'ให้ระวังอาหารเสริมที่มีวิตามิน เอ มากๆด้วย ถ้ามีข้อสงสัยอะไรก็ลองปรึกษาแพทย์ได้'

การที่แอลกอฮอล์ในกระแสเลือดคุณจะส่งผ่านไปถึงทารกในครรภ์เป็นอะไรที่เกิดขึ้นได้ง่ายดายมากๆ มันส่งผลให้เด็กตกอยู่ในความเสี่ยงมีพัฒนาการช้ากว่าที่ควร แล้วยังอาจทำให้เกิดความพิการ หรือคลอดก่อนกำหนดด้วยก็เป็นได้ 'แม้แต่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อยก็ทำให้เด็กทารกตกอยู่ในความเสี่ยงแล้ว' แคร์รินาอธิบาย 'ดังนั้นคุณจึงควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกรูปแบบตั้งแต่คิดอยากตั้งครรภ์ ยิ่งช่วงที่ทารกยังเป็นตัวอ่อนในสัปดาห์แรกๆของการตั้งครรภ์ ทารกก็จะยิ่งอ่อนแอและไวต่อทุกความเสี่ยงเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ก่อนที่คุณจะรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ด้วยซ้ำ'


การได้รับสารโลหะหนักอย่างปรอท ที่อาจสะสมอยู่ในเนื้อปลาทะเล เพียงเล็กน้อย อาจไม่ทำอันตรายต่อตัวคุณ แต่จะส่งผลใหญ่หลวงกับทารกที่อยู่ในครรภ์ได้' แคร์รินากล่าว 'ควรจำกัดการบริโภคปลาทะเลให้ไม่เกิน 2-4 กระป๋องต่อสัปดาห์'


'ชีสชนิดอ่อนอย่างชีส Brie และ Camembert รวมทั้งชีสราสีฟ้า อย่างพวก Stilton และ Danish Blue อาจจะมีแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ชื่อ ลิสเทอเรีย ซึ่งทำให้เกิดโรคลิสเทอริโอซิส โรคร้ายแรงที่เป็นสาเหตุของการแท้งบุตร หรือทำให้ทารกตายในครรภ์ได้' แคร์รินากล่าว

การได้รับสารคาเฟอีนมากเกินไปจะไปเพิ่มอัตราความเสี่ยงที่ทารกจะเกิดมามีน้ำหนักน้อยกว่าที่ควร หรือถึงขนาดแท้งบุตรเลยก็เป็นได้ ทางที่ดีไม่ควรบริโภคคาเฟอีนมากไปกว่า 200 ม.ก.ต่อวัน ในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ 'เท่ากับกาแฟชงสำเร็จ 2 แก้ว หรือกาแฟคาปูชิโนแก้วกลางจากร้านกาแฟ' แคร์รินากล่าว ลองเปลี่ยนไปดื่มกาแฟชนิดที่สกัดสารคาเฟอีนออก และจำไว้ว่าน้ำโคล่า, ชา และยาแก้ไข้บางชนิด ก็มีสารคาเฟอีนผสมอยู่ด้วยเช่นกัน

'ของว่างบางชนิด ยกตัวอย่างเช่นพวกที่มีครีมมูส จะมีส่วนผสมของไข่ดิบ หรือไข่กึ่งสุกกึ่งดิบ ซึ่งเป็นอะไรที่ควรหลีกเลี่ยง' แคร์รินาอธิบาย 'เพราะมันอาจจะมีเชื้อแบคทีเรียชนิดซัลมอเนลลา ที่อาจทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ ซึ่งไม่ดีต่อคนที่กำลังท้องอย่างแน่นอน'


'หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่กึ่งสุกกึ่งดิบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ปีก เนื้อวัว หรือเนื้ออื่นๆก็ตาม เพราะอาหารที่ยังไม่ผ่านความร้อนเพียงพอ หมายความว่ามีโอกาสที่จะยังมีเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษอยู่ก็ได้' แคร์รินาแนะนำ

การให้นมแม่และนมขวด

มีการถกเถียงถึงวิธีการให้นมลูกกันอย่างเผ็ดร้อนซึ่งทำให้เกิดเสียงแตกในกลุ่มให้คำปรึกษาสุขภาพและการเป็นพ่อแม่ คุณแม่มือใหม่มักหงุดหงิดใจและสับสนว่าวิธีไหนดีที่สุด ไม่ว่าจะให้นมลูกวิธีไหนก็ตาม มาดูความจริงที่คุณควรรู้

ถ้าน้ำนมจากคุณแม่มือใหม่ปิดฉลากส่วนผสมที่ด้านข้าง น่าจะมีคำว่า 'โปรตีน', 'คาร์โบไฮเดรต', 'วิตามิน', และ 'ไขมันชั้นดี' สารอาหารทั้งหมดช่วยสนันสนุนการเจริญเติบโตของกระดูกและสมอง มันคือสูตรการทดลองที่ได้ผลและน่ามหัศจรรย์มาแล้วกว่าพันปี สูตรนมเด็กแรกเกิดที่ขายกันในสมัยใหม่มีคุณค่าทางโภชนาการใกล้ที่ใกล้เคียงกับน้ำนมจากอกแม่

กรมอนามัยแนะนำว่าการให้ลูกดูดนมแม่จนกระทั่งอายุหกเดือนจะทำให้เด็กได้รับสารอาหารที่จำเป็นเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตและพัฒนาการ แต่ไม่เพียงลูกน้อยเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์คุณแม่ก็ได้เช่นกัน 'การให้นมลูกเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคุณแม่' Clare Byam-Cook ผู้เขียนหนังสือ What to Expect When You're Breastfeeding...And What If You Can't? 'มันช่วยให้มดลูกเข้าอู่ ช่วยลดการเกิดเลือดออกหลังการคลอด และช่วยให้น้ำหนักของคุณแม่กลับมาเท่ากับตอนก่อนตั้งครรภ์'


มีคุณแม่หลายคนมีความตั้งใจที่จะให้นมลูกด้วยตัวเอง แต่ก็พบว่าให้ลูกดูดนมเองไม่ได้ บางคนก็ยังพยายามทำต่อไป แม้จะรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้ มีข้อดีหลายประการสำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ให้ลูกดูดนมตัวเอง นมจากอกแม่ไม่ต้องผ่านการฆ่าเชื้อ, ไม่ต้องใช้แปรงล้างขวด, อุ่นนมในไมโครเวฟจนได้อุณหภูมิที่พอเหมาะ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการให้ลูกดูดนมแม่เป็นวิธีที่สะดวกสำหรับคุณแม่ที่สามารถให้นมลูกเองได้ แต่เพราะเป็นวิธีที่ง่ายก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดหรือเป็นวิธีเดียวในการเลี้ยงลูกด้วยนม

น้ำนมเหลือง (Colostrum) เป็นน้ำนมสีออกเหลืองที่ผลิตในช่วงวันแรกๆ หลังจากคลอดลูก เป็นน้ำนมทีมีโปรตีนต่อต้านเชื้อโรคที่ส่งผ่านจากแม่สู่ลูก เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูก เด็กแรกเกิดที่ดูดนมแม่จะมีสุขภาพแข็งแรงและมีโอกาสน้อยที่จะเจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อเทียบกับทารกที่ดื่มนมชงจากขวด นมจากอกแม่มีคุณค่าเพียงพอสำหรับลูกน้อย


เมื่อลูกน้อยเริ่มดูดหัวนมและลานหัวนม จะมีการหลั่ง 'อ๊อกโตซิน' ฮอร์โมนแห่งความผูกพัน มันก่อให้เกิดความรู้สึกแปลบเหมือนโดน 'หมุดและเข็ม' เมื่อน้ำนมไหล คุณแม่รู้สึกดี สิ่งที่ตามมาก่อให้เกิดสายสัมพันธ์กับลูก 'แต่ไม่ใช่ว่าการให้นมจากขวดจะสร้างความสัมพันธ์กับลูกไม่ได้' Clare Byam-Cook กล่าว น้ำนมจากมนุษย์ไม่ใช่สิ่งมหัศจรรย์ การให้เวลาในการให้นมและแบ่งปันความรู้สึก การสัมผัสกาย สบตาเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความใกล้ชิดด้วยเช่นกัน

การให้นมจากขวดช่วยบรรเทาความวิตกกังวลให้กับคุณแม่บางคนเกี่ยวกับปริมาณการให้นมลูก 'การให้นมขวดทำให้คุณแม่ไม่ต้องคอยให้นมลูกอยู่ตลอด' Clare Byam-Cook อธิบาย สามี ญาติ และพี่เลี้ยงเด็กสามารถให้นมลูกแทนได้ การให้ลูกดื่มนมแม่ก็สามารถทำได้ด้วยการบีบนมใส่ขวด คุณแม่หลายคนก็ให้นมลูกแบบนี้ แต่บางคนก็บอกว่าเป็นวิธีที่ไม่ค่อยสะดวก

ไม่ใช่ว่าคุณแม่มือใหม่กับลูกน้อยที่กำลังหิวนมจะทำอะไรได้ลงตัวไปเสียทั้งหมด มันไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่บรรดาคุณแม่มือใหม่ที่ต้องการให้ลูกดูดนมตัวเองต้องพบกับความลำบากเพื่อนำลูกน้อย ''เข้าเต้า'' คุณแม่บางคนลองทำแล้วก็ทำไม่ได้ ลองเปลี่ยนท่าทางให้สบาย คุณแม่บางคนปรึกษากับผู้แนะนำด้านสุขภาพ คลินิค หรือศูนย์ให้นมแม่ถ้าพบกับความยุ่งยาก หากให้ลูกเข้าเต้าไม่ได้ ไม่ต้องกลัว ไม่ใช่มีคุณคนเดียวที่พบกับประสบการณ์นี้ และหาคนคอยช่วยเหลือ

'ให้คุณพ่อได้คุ้นเคยกับกระบวนการให้นมลูก และเรียนรู้วิธีใช้เครื่องปั๊มนมซึ่งช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นในช่วงเดือนแรกๆ' Clare Byam-Cook กล่าว 'ถ้าคุณให้นมลูกจากขวด ให้คุณพ่อชงนมตามสูตร, ทำความสะอาดขวดนม และวิธีการดูแลลูกในบางช่วง' Byam-Cook กล่าวเสริม คุณพ่อมือใหม่บางคนไม่มั่นใจวิธีการให้นมลูก คุณแม่มือใหม่บางคนก็เป็นด้วยเช่นกัน! แต่เมื่อทั้งคู่ให้นมได้จะเป็นรางวัลชีวิตให้กับทุกคน


ปรึกษากับคู่ของคุณถึงแผนล่วงหน้าในการให้นมลูกก่อนที่ลูกจะครบขวบ 'คุณแม่บางคนอาจจะหยุดให้นมลูกเนื่องจากความกดดันหรือความเข้าใจผิดจากคู่สมรสว่าควรให้ลูกน้อยหย่านมได้แล้ว' Clare Byam-Cook อธิบาย คุณควรหันหน้าปรึกษากันถ้าคุณรู้สึกไม่ดีต่อตัวคุณและลูกน้อย

ไม่ว่าจะให้นมลูกด้วยวิธีไหนก็ตาม หรือจะทั้งสองแบบ ไม่ต้องตกใจที่บางครั้งลูกของคุณงุนงงกับการให้นม เด็กแรกเกิดอาจจะน้ำหนักตัวลดลงในช่วยสัปดาห์แรกหลังจากคลอดทั้งที่ให้นมตามปกติ ทารกบางคนก็ดูหิวตลอด บางคนก็ดูดนมน้อยแต่บ่อย บางคนก็โตเร็วซึ่งหมายความว่าต้องการนมมากขึ้น บางครั้งก็มากเกินที่จะให้นมได้ โดยเฉลี่ยแล้วเด็กแรกเกิดจะดูดนม 8-12 ครั้งต่อวัน จำไว้นี่เป็นค่าเฉลี่ย เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน

เพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ - ตอบคำถามทุกเรื่องที่คุณอยากรู้

เราจะยังมีเพศสัมพันธ์ในขณะที่ฉันกำลังท้องได้หรือเปล่า?

"ได้ มันปลอดภัยแน่นอนสำหรับคู่แต่งงานส่วนใหญ่ที่จะยังคงมีเพศสัมพันธ์ต่อขณะที่ตั้งครรภ์แล้ว" ด็อกเตอร์คลอดีน โดโมนีย์ นรีแพทย์ จากวิทยาลัยรอยัลคอลเลจในอังกฤษกล่าว ผู้หญิงบางคนอาจจะตอบสนองได้ดีกว่าในช่วงที่กำลังท้องอยู่ด้วยซ้ำ "นั่นเป็นเพราะปริมาณฮอร์โมนสารกระตุ้นและสารอ็อกซิท็อคซิน ที่หลั่งออกมาภายในร่างกายระหว่างช่วงตั้งครรภ์ จะไปเพิ่มความสามารถในการตอบสนองขณะถึงจุดสุดยอดให้ดียิ่งขึ้นได้"

ปกติแล้วการมีเพศสัมพันธ์ไม่สามารถทำอันตรายได้ เพราะทารกจะได้รับการปกป้องเป็นอย่างดีอยู่ภายในมดลูก แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็คงไม่แนะนำให้ใช้เซ็กซ์ทอยระหว่างตั้งครรภ์ เพราะส่วนใหญ่แล้วมันไม่ได้มีความอ่อนโยนเหมือนการมีเพศสัมพันธ์จริงๆ 'อาจจะมีความเสี่ยงในเรื่องของการติดเชื้อ หรือทำให้ถุงน้ำคร่ำฉีกขาดได้' ซัลลี แรนเดิล นางพยาบาลผดุงครรภ์ กล่าว ทางทีดีจึงควรเก็บของเล่นทั้งหลายเอาไว้เฉยๆ 'แม้เซ็กซ์ทอยอาจจะไม่ได้สร้างปัญหาจริงๆ แต่เราก็ไม่มีหลักฐานใดๆที่สามารถยืนยันได้ว่ามันปลอดภัยจริงๆด้วยเหมือนกัน' ด็อกเตอร์โดโมนีย์กล่าวเตือน

ไม่แปลกถ้าความรู้สึกต่อเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์จะเปลี่ยนแปลงไประหว่างที่ผู้หญิงกำลังตั้งครรภ์ ผู้ชายบางคนอาจจะรู้สึกว่าการตั้งครรภ์สร้างความเสน่ห์หาได้มากขึ้น ในขณะที่บางคนก็หมดความต้องการมีเพศสัมพันธ์ไปเลย ไม่ว่าจะเป็นเพราะทารกในครรภ์หรือไม่ก็ตาม 'มีความเปลี่ยนแปลงระหว่างช่วงตั้งครรภ์มากมายที่ส่งผลต่อความต้องการมีเพศสัมพันธ์ ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงของระบบไหลเวียนเลือดไปสู่อวัยวะสืบพันธุ์ที่มากขึ้น จะทำให้ไวต่อความรู้สึกมากขึ้น' ซัลลี แรนเดิลกล่าว 'รวมไปถึงหน้าอกที่จะไวต่อการสัมผัสมากขึ้นด้วย ผู้หญิงบางคนอาจจะชอบให้ถูกสัมผัส ในขณะที่บางคนก็ไม่อยากถูกให้สัมผัสก็ได้'

'ใครก็ตามที่มีอาการเลือดออกแล้วยังไม่ได้รับการวินิจฉัย, มีภาวะรกเกาะต่ำ หรือถุงน้ำคร่ำรั่ว ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการตั้งครรภ์' ด็อกเตอร์โดโมนีย์เตือน การมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้เกิดอาการเลือดออกในช่องคลอดได้เล็กน้อยเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่คนที่กำลังตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งหากมีอาการเลือดไหลใดๆก็ตาม 'ถ้าถุงน้ำคร่ำเกิดแตก ฉันไม่แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์เพื่อลดอัตราเสี่ยงของการติดเชื้อให้ต่ำที่สุด' ซัลลี แรนเดิลเสริม

'พอท้องเริ่มขยายขนาดมากขึ้นๆ ผู้หญิงก็มักจะเลือกมีเพศสัมพันธ์ในท่าที่อยู่ด้านบน หรือยืนหันเข้าหาผนัง' Yvonne K Fulbright เจ้าของผลงานหนังสือ Your Orgasmic Pregnancy: Little Sex Secrets Every Hot Mama Should Know กล่าว 'พอน้ำหนักเริ่มมากขึ้น ท่าหันข้างอาจจะเป็นอะไรที่เหมาะ แต่โดยรวมแล้วก็คือ ทุกคู่ควรหลีกเลี่ยงท่าทางที่จะลงน้ำหนักไปที่หน้าท้องนั่นเอง'

การตั้งครรภ์ไม่ส่งผลกับความสามารถในการถึงจุดสุดยอดระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่การถึงจุดสุดยอดก็อาจส่งผลแปลกๆต่อการตั้งครรภ์ได้เป็นบางครั้ง การถึงจุดสุดยอดจะทำให้มดลูกหดตัว ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเจ็บแปลบเป็นระยะๆนานเป็นชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์ได้ คล้ายความเจ็บปวดแบบเดียวกับตอนที่คุณจะคลอด

เพราะน้ำเชื้อมีสารอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าพรอสตาแกลนดินส์ ตัวเดียวกับที่ใช้ในยาลดอาการหดตัวของมดลูก จึงทำให้ใครๆเชื่อไปว่าการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่มีการป้องกันระหว่างตั้งครรภ์จะไปเร่งให้มดลูกหดตัวเร็วกว่ากำหนดได้ แต่อันที่จริงแล้ว ผลการศึกษาผู้หญิงกว่า 600 คนที่ในสหรัฐฯพบว่า ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ช่วงท้องแก่ จะมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดน้อยกว่าผู้หญิงท้องทั่วๆไปต่างหาก

'โดยปกติแล้ว เราจะแนะนำให้ผู้หญิงรอประมาณ 6 สัปดาห์หลังคลอดบุตรก่อนจะเริ่มต้นมีเพศสัมพันธ์อีกครั้ง เพราะมีความเสี่ยงเรื่องการอุดตันของเส้นโลหิตจากฟองอากาศได้เล็กน้อย' ด็อกเตอร์โดโมนีย์กล่าว 'ผู้หญิงส่วนใหญ่แล้วจะรู้สึกไม่อยากมีเพศสัมพันธ์ก่อนพ้นช่วงเวลาดังกล่าว ยิ่งถ้าคุณคลอดบุตรด้วยวิธีการผ่าตัด ก็จะมีปัญหาอาการเจ็บปวด รวมไปถึงไม่สามารถเคลื่อนที่ไปไหนมาไหนได้ง่ายนัก 'ถ้าแม่มีแผลเย็บที่หน้าท้อง เธอคงอยากให้แผลสมานดีก่อน' ซัลลี แรนเดิลกล่าว 'ตามหลักจิตวิทยาแล้ว ผู้หญิงแต่ละคนก็จะมีความพร้อมอยากกลับมามีเพศสัมพันธ์อีกครั้งที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ของตัวเอง, ความเหน็ดเหนื่อย หรือรู้สึกยุ่งอยู่กับภาวะความเป็นแม่'

'เราขอแนะนำให้ทำการคุมกำเนิดตั้งแต่หลังคลอดบุตรไปได้ 3 สัปดาห์ เพราะคุณจะสามารถกลับมาตั้งครรภ์ใหม่ได้แล้วในตอนนั้น แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ต่ำหากคุณให้นมบุตรอย่างเต็มที่' ด็อกเตอร์โดโมนีย์กล่าว เวลาที่คุณกลับไปตรวจสุขภาพกับแพทย์ก็สามารถลองไปปรึกษาถึงเรื่องการคุมกำเนิดได้ แม้ผู้หญิงที่ให้นมบุตรจะสามารถชะลอการตกไข่และการมีประจำเดือนได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่กับทุกๆคน มีโอกาสที่คุณแม่มือใหม่จะเริ่มตกไข่ได้อีกครั้งภายในเวลาแค่ 4 สัปดาห์หลังคลอดบุตร ดังนั้นการกลับไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรหลีกเลี่ยง

คู่สามีภรรยาหลายๆคู่ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ยังตั้งครรภ์เหมือนกับเมื่อตอนก่อนตั้งครรภ์ ความต้องการมีเพศสัมพันธ์ในทั้ง 2 ฝ่ายอาจจะลดเลือนไปบ้าง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งคู่จะไม่สามารถมีชีวิตแบบเซ็กซี่ๆได้บ้างแม้จะไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กันจริงๆก็ตาม 'การโอบกอด อาบน้ำ หรือนวดให้กัน สามารถช่วยเติมความใกล้ชิดและความเสน่ห์หาให้กันและกันได้ รวมทั้งช่วยให้ร่างกายหลั่งสารฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกดีอีกด้วย' ซีตา เวสต์ เจ้าของผลงานหนังสือ Your Pregnancy Companion กล่าว

th.msn.com















มีเซ็กส์อย่างไรให้มีลูก

เลือกวันที่ฝ่ายหญิงตกไข่ แล้วบรรเลงเพลงรักได้เลย ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าท่าไหนที่ทำให้เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ เรามีเคล็ดลับมีเซ็กส์อย่างไรให้ตั้งครรภ์มาฝากกัน

สเปิร์มก็อาจจะหาทางเข้าปากมดลูกไม่ถูกเหมือนกัน การช่วยให้สเปิร์มว่ายผ่านท่อนำไข่ได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ การยกขาขึ้นหรือยกขาพิงกำแพงช่วยได้ 'ท่ามิชชันนารีเป็นท่าที่เหมาะสม หาหมอนรองใต้สะโพกไว้จะช่วยให้ยกขาได้สูงขึ้น Dr. Pam Spurr ผู้เชี่ยวชาญด้ายความสัมพันธ์ และผู้เขียนหนังสือ Sex Academy - Essential Lessons in Seduction & Spectacular Sex แนะนำ 'มันอาจจะเป็นท่าที่ไม่เร้าอารมณ์เท่าไหร่ แต่ท่านี้จะทำให้ฝ่ายชายรุกล้ำเข้าไปอาณาเขตของฝ่ายหญิงได้ลึก ใกล้กับปากมดลูกซึ่งจะช่วยให้เกิดโอกาสการตั้งครรภ์ได้

'คำแนะนำง่ายๆ ที่มักจะถูกมองข้าม' Dr Pam Spurr (drpam.co.uk) กล่าว 'อย่ารีบเร่งที่จะลุกจากเตียงทันทีหลังมีเซ็กส์ แทนที่จะนอนราบให้ชันเข่าขึ้น เท้ายันหัวเตียง ผ่อนคลายสักพักหนึ่งก่อน'

จากการศึกษาหลังการมีเพศสัมพันธ์ของผู้หญิง พบว่าผู้หญิงที่ถึงจุดสุดยอดและมีความสุขกับการมีเซ็กส์จะกักน้ำอสุจิได้มากกว่าผู้หญิงที่ไม่ถึงฝั่งฝัน 'การถึงจุดสุดยอดเป็นช่วงเวลาที่กล้ามเนื้อมดลูกบีบรัดตัว ทำให้กักน้ำอสุจิได้มากขึ้น' Dr Spurr อธิบาย

ท่าโก้งโค้ง หรือ Doggy เป็นอีกท่าที่ทำให้สเปิร์มว่ายเข้าไปใกล้ปากมดลูก โดยให้คุณผู้ชายอยู่ด้านหลังฝ่ายหญิง 'ท่านี้เป็นการมีเพศสัมพันธ์ทางด้านหลัง ที่คุณผู้ชายสามารถล่วงล้ำอาณาเขตฝ่ายหญิงได้ลึกเช่นกัน' Dr Pam Spurr แนะนำ

'เมื่อบรรเลงเพลงรักใกล้สิ้นสุด ให้ฝ่ายหญิงอยู่ล่าง' Dr Pam Spurr กล่าว ท่าผู้หญิงอยู่บนเป็นท่าที่สร้างความหรรษาให้กับฝ่ายหญิง เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสการตั้งครรภ์ สลับให้ฝ่ายหญิงอยู่ด้านล่าง เมื่อฝ่ายชายหลั่งน้ำอสุจิแล้วให้อยู่ในท่านั้นอีกสักสองสามนาที' Dr Spurr กล่าวเสริม

น้องเอเดน 8 เดือน หล่อโฮก

อัพเดท น้องเอเดน 8 เดือน หล่อโฮก
ที่ต้องขอบอกว่ายังไม่ถึงขวบแต่ลูกชายน่ารักโฮกๆ คนนี้ช่วยคุณแม่เมคมันนี่ได้แล้วนะจ๊ะ เพราะหนุ่มน้อยเอเดนเนื้อหอมโดนจีบเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้เพียบ งานนี้คุณพ่อคุณแม่ก็มีแต่จะหน้าบานกันล่ะจ้าาาา
อัพเดท น้องเอเดน 8 เดือน หล่อโฮก
อัพเดท น้องเอเดน 8 เดือน หล่อโฮก
อัพเดท น้องเอเดน 8 เดือน หล่อโฮก

การตรวจอัลตราซาวด์ครั้งแรก

การตรวจอัลตราซาวด์เป็นวิธีการตรวจเพื่อเช็คสภาพการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของลูกน้อย
ที่อยู่ในครรภ์รวมถึงสภาพร่างกายของคุณแม่ด้วย ซึ่งเราจะสามารถเห็นภาพได้ผ่านทางจอมอนิเตอร์
โดยการตรวจอัลตราซาวด์มักจะทำการตรวจในช่วงต้นๆของการตั้งครรภ์ และเนื่องจากปัจจุบัน
เทคโนโลยีการตรวจอัลตราซาวด์ได้มีความก้าวหน้าไปอย่างมาก ทำให้มีประเภทของวิธีการตรวจ
และวิธีแสดงภาพต่างๆมากมาย ดังนี้
ก. กลไกของการตรวจอัลตราซาวด์

การตรวจอัลตราซาวด์มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับเครื่องหาปลา เพราะคลื่นอัลตราโซนิกที่นำมาใช้นั้นเป็นคลื่นความถี่สูง ซึ่งมี
คุณสมบัติสะท้อนเส้นขอบอวัยวะภายในและเนื้อเยื่อเมื่อผ่านของเหลว โดยมีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในทะเลโดยสร้างเป็นเครื่องหาปลา
และมีการนำไปประยุกต์ใช้ในการตรวจครรภ์ของคุณแม่ที่เต็มไปด้วยน้ำคร่ำโดยนำไปตรวจสอบระหว่างการตั้งครรภ์ โดยการตรวจ
อัลตราซาวด์จะทำให้สามารถเห็นคลื่นอัลตราโซนิกเป็นภาพได้ ดังนั้นจึงสามารถตรวจได้ด้วยการดูที่จอมอนิเตอร์หรือพิมพ์ภาพออกมา
และในบางโรงพยาบาลอาจจะสามารถขอให้ช่วยบันทึกภาพเป็นวีดีโอได้ และการตรวจอัลตราซาวด์ยังไม่มีตัวอย่างรายงานถึง
ผลข้างเคียงต่อผู้ตั้งครรภ์เหมือนเช่นการเอกซ์เรย์ จึงสามารถกล่าวได้ว่าเป็นวิธีการตรวจที่มีความปลอดภัยสูง
ข. ประเภทของวิธีการตรวจอัลตราซาวด์

1. วิธีอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด
เป็นวิธีการตรวจโดยการสอดอุปกรณ์ส่งคลื่นอัลตราโซนิกในรูปแบบแท่งที่เรียกกันว่าหัวตรวจทางช่องคลอดเข้าไปในช่องคลอด
ซึ่งวิธีการนี้จะใช้ตรวจในครั้งแรกๆของอายุครรภ์ จนถึงประมาณ 11 - 12 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ โดยการสอดเข้าไปในช่องคลอดนี้
จะช่วยให้เห็นมดลูกในตำแหน่งที่ใกล้กับลูกในครรภ์มากกว่า จึงสามารถได้ภาพที่ละเอียด และไม่เพียงแต่ได้ตรวจสภาพของลูกน้อยเท่านั้น
แต่ยังสามารถตรวจสภาพความแข็งแรงของมดลูกและรังไข่ของคุณแม่ได้อีกด้วย หากคุณแม่เข้ารับการตรวจด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย
จะทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ แต่หากคุณแม่เครียดและฝืน อาจจะทำให้รู้สึกเจ็บในตอนที่สอดเข้าไป ซึ่งในเวลาดังกล่าวขอให้คุณแม่บอกคุณหมอตรง ๆ
ถึงความรู้สึกหรือความกังวล นอกจากนี้ในการตรวจหัวตรวจมีการฆ่าเชื้อ และใส่ถุงยางอนามัยเฉพาะทางให้ทุกครั้ง จึงมีความสะอาดอย่างมาก

2. วิธีอัลตราซาวด์ทางหน้าท้อง
เป็นการตรวจอัลตราซาวด์ที่ทำตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ โดยการตรวจจะใช้หัวตรวจตรวจจากภายนอกท้องคุณแม่ จะมีการ
ทาเจลสำหรับช่วยให้คลื่นอัลตราโซนิกผ่านได้ดีที่ท้อง และค่อย ๆ เลื่อนหัวตรวจไปบนหน้าท้อง จึงไม่มีความเจ็บปวด จะมีเพียงแค่
จะรู้สึกถึงเจลเย็นเล็กน้อยเท่านั้นนอกจากนี้จะต้องเปลี่ยนท่าทางและการหายใจตามคำสั่งของคุณหมอให้ตรงกับตำแหน่งและ
การเคลื่อนไหวของลูกน้อยอีกด้วย ส่วนเจลที่ใช้ในการทานั้นจะไม่มีอันตรายใด ๆ และสามารถทำความสะอาดหลังตรวจได้ง่าย ๆ
เพียงแค่ใช้ผ้าเช็ดออกเท่านั้น

ค. ประเภทของวิธีการแสดงภาพ

1. วิธี Ultrasonotomography
เป็นวิธีแสดงข้อมูลที่ได้รับจากการสะท้อนของคลื่นอัลตราโซนิกเป็นภาพ 2 มิติ (แนวราบ) และเป็นวิธีการตรวจที่ใช้กันมากที่สุด
ซึ่งมีทั้งแบบตรวจทางช่องคลอดและทางหน้าท้อง

2. วิธี Color Doppler Image *วิธีตรวจทางหน้าท้อง
เป็นวิธีการตรวจอัลตราซาวด์ที่สามารถตรวจวัดปริมาณและความเร็วของกระแสเลือด ซึ่งทำให้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับความผิดปกติของ
จำนวนเส้นเลือดในสายสะดือและรูปร่างหัวใจของลูกน้อย

3. วิธี 3D *วิธีตรวจทางหน้าท้อง
เป็นวิธีที่ช่วยให้เห็นรูปร่างจริงแบบ 3 มิติของลูกน้อยในท้องุณแม่ ราวกับได้แอบมองลูกน้อยผ่านหน้าต่าง

4. วิธี 4D *วิธีตรวจทางหน้าท้อง
จะแสดงเป็นภาพเคลื่อนไหวที่มีมิติความละเอียดของเวลาเพิ่มจากวิธี 3D โดยจะสามารถเห็นการเคลื่อนไหวเบา ๆ สบาย ๆ
ราวกับลูกน้อยกำลังเดินสำรวจอวกาศอยู่ในน้ำคร่ำ
ในการตรวจสอบการเจริญเติบโตของลูก และตรวจสภาพมดลูกและรังไข่ของคุณแม่ สามารถตรวจด้วยวิธีการแสดงภาพแบบ
Ultrasonotomography ก็เพียงพอที่ทำให้ทราบข้อมูลในเบื้องต้นได้ ส่วนการตรวจแบบวิธี 3D และ 4D นั้นบางโรงพยาบาลยังไม่มี
การนำมาใช้ในการตรวจมากนัก และ 2 วิธีดังกล่าวนี้ยังไม่ใช่การตรวจสอบที่ใช้กันแพร่หลายจึงยังมีผู้ที่ต้องการตรวจน้อย
ง. ความถี่ในการตรวจอัลตราซาวด์

การตรวจจะขึ้นอยู่กับสถาบันการแพทย์แต่ละที่ ซึ่งการตรวจนี้จะต้องมีการเสียค่าใช้จ่าย แต่อาจจะมีโรงพยาบาลบางแห่งที่ทำการตรวจ
ให้ทุกครั้งที่มีนัดตรวจตามกำหนดเวลา หรือทำการตรวจ 2 - 3 ครั้งตามความจำเป็น

จ. ประโยชน์ของการตรวจอัลตราซาวด์

1. เพื่อตรวจสุขภาพคุณแม่
ขั้นตอนของการตรวจครั้งแรกจะเป็นการตรวจสภาพของมดลูกและรังไข่ของคุณแม่ เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่ปกติหรือไม่ปกติ
เช่น การตรวจการตั้งครรภ์นอกมดลูก การตรวจความผิดปกติที่รังไข่ การตรวจภาวะรกเกาะต่ำ เป็นต้น

2. เพื่อตรวจสภาพการเจริญเติบโตของลูก
วัตถุประสงค์ของการตรวจอัลตราซาวด์ที่สำคัญที่สุดคือ การตรวจสภาพความผิดปกติของการเจริญเติบโตของลูกน้อย และนอกจากนี้
ไม่เพียงแค่คุณแม่จะได้ทราบว่าลูกน้อยเป็นฝาแฝด หรือลูกน้อยกำลังอยู่ในท่าทางใดเท่านั้น แต่ยังสามารถรู้ขนาดความยาวของส่วนต่าง ๆ ตามลักษณะท่าทางของลูกได้อีกด้วย โดยจะวัดความยาวตั้งแต่ศรีษะถึงก้นที่เรียกกันว่า “ความยาวของทารก (Crown-Rump Length;
CRL)” หรือเส้นผ่านศูนย์กลางของศรีษะ, ความยาวของกระดูกสะโพก, ขนาดของรอบท้อง ฯลฯ อย่างละเอียดซึ่งสามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้
ในการกำหนดวันคลอดได้อีกด้วย
นอกจากนี้ คุณแม่จะสามารถรู้เพศของลูกน้อยได้ว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 24 สัปดาห์ขึ้นไป

3. เพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของลูก
สำหรับวิธี Color Doppler Image จะทำให้ได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพการไหลเวียนเลือด ความแข็งแรงของอวัยวะภายในแต่ละส่วน
สภาพของสายสะดือ หรืออาจจะพบความผิดปกติของหัวใจ ฯลฯ ของลูกน้อยได้ด้วย
นอกจากนี้ อาจจะทำให้รู้ถึงข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่จะส่ผลกระทบต่อคุณแม่ตอนคลอดได้เช่น จากปริมาณของน้ำคร่ำ จากตำแหน่ง
ของรก และจากสภาพของสะดือ เป็นต้น แต่เนื่องจากการตรวจด้วยอัลตราซาวด์นั้นยังมีความแตกต่างกับการตรวจสอบทางเคมีอยู่มาก
จึงไม่อาจสรุปข้อมูลจากการตรวจอัลตราซาวด์ได้จากแหล่งเดียว

4. ทำให้ยิ่งรู้สึกถึงความเป็นแม่
การได้ “เห็น” ลูกน้อยในครรภ์ผ่านการตรวจอัลตราซาวด์นั้นถือว่าเป็นเรื่องน่าที่น่าซาบซึ้งมากสำหรับคุณแม่ทุกๆคน ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็น
ประสบการณ์แรกสุดที่ทำให้คุณแม่ได้พบกับลูก และเป็นสิ่งที่ทำให้คุณแม่รู้สึกถึงความเป็นแม่อย่างแท้จริง

การเปลี่ยนแปลงร่างกายในช่วงแรก

ก. การเปลี่ยนแปลงของหน้าท้อง

เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ท้องคุณแม่จะเริ่มเหมือนคนตั้งครรภ์แล้วคือโดยจะรู้สึกว่า
ท้องเริ่มขยายใหญ่ขึ้นและรู้สึกถึงลูกน้อยที่อยู่ในท้อง ซึ่งคุณแม่จะมีความสุขและเพลิดเพลินไปกับ
การที่ลูกน้อยกำลังเติบโตอยู่ในช่วงนี้มาก โดยเมื่อถึง 16 สัปดาห์ของไตรมาสที่ 2 ท้องคุณแม่จะเริ่มโตและเห็นได้จากภายนอก
โดยในช่วงนี้ ควรเริ่มใส่ชุดชั้นในสำหรับคุณแม่ เพื่อช่วยพยุงมดลูกที่ใหญ่และหนักขึ้น เช่น ผ้าคาดหน้าท้อง, กางเกงชั้นในพยุงหน้าท้อง
เป็นต้น
ข. ผิวแตกลาย

ผิวแตกลาย คือ เส้นลายที่เกิดขึ้นที่ผิวหนัง โดยเกิดจากการที่เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังแตกลายในตอนที่หน้าท้องขยายขนาดใหญ่ขึ้น
อย่างรวดเร็ว ซึ่งเส้นลายนี้อาจจะเกิดขึ้นกระทันหันได้ในไตรมาสที่ 3 หรือ เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์

1. สาเหตุของการเกิดผิวแตกลาย

การที่หน้าท้องขยายขนาดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังด้านนอกไม่สามารถรับมือกับความเร็วในการเพิ่มขึ้นของกล้ามเนื้อ
และไขมันได้จึงทำให้ผิวแตกลาย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นกับทุกคน โดยขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและรูปร่าง และน้ำหนักเพิ่มขึ้น
อย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้น ๆ ของแต่ละบุคคล จะเกิดผิวแตกลายได้ง่ายกว่า โดยการเกิดผิวแตกลายจะไม่มีอาการเจ็บ แต่บางคน
อาจจะรู้สึกคัน ซึ่งจะไม่ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อลูกน้อยในท้อง แต่ถ้าว่าลายที่เกิดขึ้นนี้จะไม่สามารถลบเลือนหายไปได้ ดังนั้นขอให้
คุณแม่คิดเสียว่า “ผิวแตกลายเป็นหลักฐานของการคุณแม่” แต่ถ้าคุณแม่ไม่อยากให้มีรอยที่ผิวก็ควรหาวิธีป้องกันไว้

2. วิธีการป้องกันผิวแตกลาย

สำหรับการป้องกันการเกิดผิวแตกลาย มีหลักสำคัญ 2 ประการ ดังนี้

- การควบคุมการเพิ่มน้ำหนักตัว
โดยตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การใส่เอาใจในการควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในระยะเวลาสั้น ๆ โดยการควบคุมน้ำหนักตัวค่อย ๆ ให้เพิ่มขึ้นที่ละน้อย แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องพยายามควบคุมปริมาณ
แคลอรี่ให้เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของลูกในท้องด้วย

- การรักษาความชุ่มชื้นของผิว
ผิวแตกลายเป็นปัญหาด้านผิวหนัง หลักการในการป้องกันปัญหาด้านผิวหนัง คือ “การรักษาความชุ่มชื้น” เช่นเดียวกับหน้า
โดยหลังอาบน้ำคุณแม่ควรทาครีมที่หน้าท้องและนวดเบา ๆ โดยหากเราสามารถรักษาสภาพผิวให้ชุ่มชื้นและมีความยืดหยุ่นได้
แล้วในตอนที่ท้องขยายขนาดขึ้นผิวหนังที่ยืดหยุ่นนี้จะช่วยป้องกันผิวแตกลายได้ โดยในปัจจุบันก็มีครีมสำหรับป้องกัน
ผิวแตกลายโดยเฉพาะแล้ว
ในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะมีผิวแตกลายเกิดขึ้นในจุดที่มองเห็นเองได้ยาก เช่น ท้องด้านล่าง ดังนั้นการรักษา
ความชุ่มชื้นของท้องทั้งหมดจึงเป็นสิ่งสำคัญ

หากเกิดผิวแตกลายแล้วรอยอาจจะไม่หายไป ซึ่งในระหว่างที่ตั้งครรภ์รอยจะมีสีแดง แต่หลังคลอดจะมีสีค่อนข้างขาวและจะค่อย ๆ
จางลงไป หลังเกิดผิวแตกลาย ถ้าคุณแม่ยังทาครีมให้ความชุ่มชื้นและนวด อาจจะช่วยป้องกันไม่ให้สีเข้มขึ้นกว่านั้นได้

ค. การเปลี่ยนแปลงเต้านม

เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่เต้านม ซึ่งคุณแม่จะเริ่มรู้สึกว่าเต้านมเป็นอวัยวะที่สำคัญสำหรับลูก จึงแนะนำว่า
คุณแม่จะควรดูแลหัวนมและลานนมตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์เป็นพิเศษเพื่อเตรียมความพร้อมของ “เต้านม” สำหรับลูกน้อย

1. การเปลี่ยนแปลงของเต้านม

ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์ จะพบว่าเต้านมจะไวต่อความรู้สึก สีของหัวนมจะมีการเปลี่ยนแปลง และเต้านมจะใหญ่ขึ้น
เนื่องจากมีการสร้างต่อมน้ำนมและมีไขมันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ขอแนะนำให้คุณแม่ใส่เสื้อชั้นในสำหรับคนตั้งครรภ์ที่ไม่รัด และสามารถรองรับ
ขนาดของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ส่วนเรื่องการดูแลหัวนมนั้นขอแนะนำให้คุณแม่ควรนวดหัวนมและลานนมตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์
เพื่อให้มีน้ำนมสำหรับลูกน้อยเมื่อตอนหลังคลอด

2. ช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงเต้านม

เมื่อเริ่มตั้งครรภ์คุณแม่จะมีความรู้สึกว่าหัวนมจะไวต่อความรู้สึก ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นเหมือนสัญญาแรกเกี่ยวกับเต้านมในการบงบอกว่า
คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ และสีของหัวนมหรือลานนมก็จะคล้ำขึ้นด้วย นอกจากนี้ในขณะตั้งครรภ์แม้ว่าตอนนี้คุณแม่จะยังไม่มีน้ำนม
ออกมาแต่เต้านมก็เริ่มขยายขนาดใหญ่ขึ้นมาเรื่อยๆแล้ว ส่วนรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงเต้านมในแต่ละช่วงจะมี ดังนี้

- การเปลี่ยนแปลงในช่วงไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์
• หัวนมไวต่อความรู้สึก
หากหัวนมสัมผัสถูกชุดชั้นในหรือเสื้อผ้า คุณแม่ก็อาจจะรู้สึกเจ็บหรือรู้สึกแปลบ ๆ เนื่องจากหัวนมเริ่มมีการสร้างต่อมน้ำนม
ขึ้นมาแล้วนั่นเอง
• สีของหัวนมและลานนมคล้ำขึ้น
เนื่องจากเม็ดสีเมลานินที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสมดุลฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์

- การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 จนถึงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์
เต้านมจะค่อย ๆ ขยายขนาดใหญ่ขึ้นแต่จะยังไม่มีน้ำนม โดยจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเพราะมีการสร้างต่อมน้ำนมขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังมี
ไขมันเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับทั้งร่างกาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของเต้านมในระยะเวลานี้มีดังนี้
• เต้านมขยายขนาดใหญ่ขึ้น
โดยอาจจะมีปัญหาผิวแตกลายเช่นเดียวกับหน้าท้อง เนื่องจากเต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น คุณแม่จึงควรดูแลผิวด้วยครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น
• มีน้ำนมไหลออกมา
อาจจะมีน้ำนมไหลออกมาเล็กน้อยเมื่อเกิดสิ่งกระตุ้นที่หัวนม เนื่องจากต่อมน้ำนมได้ถูกสร้างขึ้นแล้ว โดยลักษณะน้ำนมที่ไหลออกมา
จะมีลักษณะเป็นสารคัดหลั่งที่มีสีขาวขุ่น

3. น้ำนมจากเต้านม

น้ำนมที่ไหลออกมาจากเต้านมเป็นแหล่งของสารอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย ดังนั้นการดูแลหัวนมและลานนมในขณะตั้งครรภ์จึงเป็น
สิ่งสำคัญ เพื่อให้คุณแม่สามารถเริ่มให้นมลูกได้อย่างไม่มีปัญหาเมื่อตอนหลังคลอด
นอกจากนี้เต้านมหลังคลอดของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นตามธรรมชาติและมีน้ำนม แต่การไหลของน้ำนมจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน
เนื่องจากความแตกต่างของรูปทรงหัวนม และสภาพการเปิดของต่อมน้ำนม โดยรูปร่างของหัวนมจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งจะมีทั้ง
รูปร่างที่ลูกน้อยดูดได้ง่ายและดูดได้ยาก เช่น หัวนมแบบแบนจะดูดได้ยาก
หากน้ำนมไหลได้ไม่ดีหรือไม่ค่อยมีน้ำนม สาเหตุอาจเกิดมาจากการติดขัดภายในต่อมน้ำนมจึงส่งผลทำให้เส้นทางการไหลของน้ำนมไม่ดี
และไหลออกได้ยาก ดังนั้นเพื่อให้เต้านมอยู่ในสภาพที่ลูกน้อยจะสามารถดูดนมได้ง่ายขอแนะนำให้คุณแม่นวดส่วนของหัวนมและลานนม
ตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ หรืออาจจะหาอุปกรณ์ที่ช่วยดัดหัวนมที่บุ๋มหรือแบนแทนได้ แต่ในขณะตั้งครรภ์ร่างกายคุณแม่
จะบอบบางมาก อาจมีบางกรณีที่การนวดจะไปกระตุ้นให้รู้สึกท้องอืดได้ ดังนั้นก่อนที่จะนวดหรือใช้อุปกรณ์ ควรปรึกษาแพทย์เสียก่อน
- การนวดหัวนมและลานนม
หากนวดหลังอาบน้ำจะทำให้ผิวนุ่มและได้ผลมากขึ้น โดยวิธีการนวดให้คุณแม่ประคองเต้านมด้วยมือข้างเดียว และจับลานนมด้วยนิ้ว
อีกข้าง ค่อย ๆ บีบนวดทั้งข้างซ้ายและข้างขวาทีละน้อย โดยก่อนที่จะเริ่มนวดหัวนมและลานนมจะต้องล้างมือและเต้านมให้สะอาดก่อน

การเพิ่มน้ำหนักตัวที่เหมาะสม

เมื่อผ่านไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ น้ำหนักตัวคุณแม่ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไปพร้อมๆ กับการ
เจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ ซึ่งในช่วงนี้คุณแม่มักจะถูกเตือนอยู่เสมอว่า “ระวังอย่าให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น
มากเกินไป”จนทำให้คุณแม่เกิดขอสงสัยว่าแล้วน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นนั้นควรจะเพิ่มไปถึงเท่าไรจึงจะไม่เป็นไร
เพราะเมื่อผ่านช่วงอาการแพ้ท้องไปแล้วคุณแม่ก็จะรู้สึกว่าหิวง่ายกว่าตอนก่อนท้องส่วนความคิดที่ว่า “ต้องกินเผื่อลูกน้อยในท้องด้วย โดยการกินเป็นปริมาณ 2 เท่า” นั้นเป็นความคิดแบบเก่าๆที่ไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งสำคัญกว่าก็คือปริมาณที่เหมาะสมและความสมดุลทางโภชนาการของอาหารที่คุณแม่กินเข้าไปมากกว่า
ก. รายละเอียดการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว

แม้ว่าลูกน้อยที่เกิดมาจะมีน้ำหนักตัวแค่ประมาณ 3 กิโลกรัมแต่ทำไมน้ำหนักตัวของคุณแม่จึงเพิ่มขึ้นมากกว่านั้น ซึ่งรายละเอียดของสัดส่วนน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากสิ่งเหล่านี้ ได้แก่

1. น้ำหนักของทารกในครรภ์ประมาณ 3 กิโลกรัม
2. น้ำหนักของรกประมาณ 0.5 กิโลกรัม
3. น้ำหนักของน้ำคร่ำประมาณ 0.5 กิโลกรัม
4. น้ำหนักของมดลูก, เต้านม, เลือด ฯลฯ ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการตั้งครรภ์ประมาณ 4 กิโลกรัม

ดังนั้นเมื่อรวมทั้งหมดแล้วก็จะได้น้ำหนัก “ประมาณ 8 กิโลกรัม”บวกกับการสะสมของไขมันและปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสมดุลฮอร์โมนอันเนื่องจากการตั้งครรภ์อีกด้วย

ส่วนผลร้ายที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวมีดังต่อไปนี้
1. ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ได้ง่าย เช่น โรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ โรคเบาหวานจากการตั้งครรภ์ ฯลฯ
2. อาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะมดลูกหดรัดตัวน้อยกว่าปกติในตอนคลอด
3. หากไขมันสะสมมากเกินไปจะทำให้ช่องคลอดแคบ หรือลูกน้อยมีขนาดตัวใหญ่เกินไป ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะคลอดลูกน้อยได้ลำบาก

ส่วนอีกด้านหนึ่ง สำหรับคุณแม่ที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นน้อยหรือเพิ่มขึ้นอย่างไม่เหมาะสมในขณะตั้งครรภ์นั้น มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งการที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นน้อยนั้นก็อาจจะเป็นเหตุทำให้ลูกน้อยที่คลอดออกมามีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ คือ ไม่ถึง 2,500 กรัม ได้ ดังนั้นคุณแม่จึงไม่ควรจะควบคุมน้ำหนักมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ขาดสารอาหารที่จำเป็นได้ และควรจะควบคุมน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นในระดับที่เหมาะสมจึงจะดีที่สุด

ข. การรักษาน้ำหนักตัวให้เพิ่มขึ้นในระดับที่เหมาะสม

โดยเป้าหมายของการเพิ่มน้ำหนักตัวในขณะตั้งครรภ์ที่เหมาะสมอาจจะสามารถนำหลักBMI (Body Mass Index) มาใช้ในการคำนวณค่าน้ำหนักที่ควรจะเพิ่มขึ้นตามโครงสร้างของร่างกายคุณแม่แต่ละคน ดังนี้
- คนที่มีรูปร่างผอม (BMI=น้อยกว่า 18.5) น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นในระดับที่เหมาะสมคือ 9 - 12 กิโลกรัม
- คนที่อยู่ในระดับมาตรฐาน (BMI=18.5 - น้อยกว่า 25) น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นในระดับที่เหมาะสมคือ 7 - 12 กิโลกรัม
- คนที่มีรูปร่างอ้วน (BMI=ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป) น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นในระดับที่เหมาะสมคือ ประมาณ 5 กิโลกรัม
*สูตรการคำนวณ BMI คือ น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร)ยกกำลังสอง

ส่วนข้อควรปฎิบัติเพิ่มเติมจะมี ดังนี้
1. การชั่งน้ำหนักเป็นประจำ
เช่นเดียวกับตอนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการควบคุมน้ำหนักตัวก็คือ การรู้ถึงสภาพปัจจุบันของเราจึงขอแนะนำให้คุณแม่ชั่งน้ำหนักด้วยเครื่องชั่งเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวเอาไว้ หากเป็นไปได้อาจจะเขียนเป็นกราฟติดไว้ดูก็ได้

2. ไม่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเกิน 0.3 กิโลกรัม ภายใน 1 สัปดาห์
น้ำหนักตัวที่สามารถเพิ่มขึ้นได้ภายใน 1 สัปดาห์คือไม่เกิน 0.3 กิโลกรัมและหากเพิ่มขึ้นมากเกิน0.5 กิโลกรัม ก็จะต้องเริ่มระวังแล้วส่วนคุณแม่ที่คิดว่าการตรวจเช็คแบบนี้นั้นยากเกินไปก็อาจจะควบคุมน้ำหนัก โดยการตั้งเป้าหมายไว้ไม่น้ำหนักเพิ่มขึ้นเกิน 1 กิโลกรัมภายใน 1 เดือน แทนก็ได้

3. กินอาหารให้ครบ 3 มื้อ และลดการกินของจุกจิก
เมื่อพ้นช่วงเกิดอาการแพ้ท้องไปแล้ว แนะนำให้คุณแม่กินอาหารให้ครบ 3 มื้อ และลดการกินของจุกจิก โดยให้เลิกกินของจุกจิกด้วยขออ้างที่ว่าหิว และหันมาพยายามกินอาหารให้ตรงตามเวลา และบริโภคสารอาหารให้ครบถ้วนจะดีกว่า นอกจากนี้ในกรณีคุณแม่ที่ต้องรอกินข้าวพร้อมคุณพ่อ แต่คุณพ่อกลับบ้านดึกนั้นขอแนะนำให้แบ่งปริมาณอาหาร 3 มื้อ ออกเป็น 4 ครั้ง โดยตอนช่วงเวลาเย็นให้กินอาหารเบา ๆ ในปริมาณเท่าของว่าง ส่วนเวลากินอาหารมื้อเย็นจริงๆก็ให้กินน้อยกว่าสามี

4. คำนึงถึงความสมดุลของอาหารมากกว่าเรื่องปริมาณ
โดยการลดปริมาณน้ำตาลและไขมันที่จะเป็นตัวทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น และควรจะลดปริมาณเกลือเนื่องจากเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์และทำให้กินข้าวได้มากเกินไป ส่วนการรักษาสมดุลเป็นสิ่งสำคัญทั้งสำหรับร่างกายของคุณแม่และลูกน้อยโดยคุณแม่ควรจะบริโภคอาหารที่มีโปรตีน ธาตุเหล็ก แคลเซียมและ บริโภคผักให้มาก ๆ

5. ใส่ใจในการออกกำลังกาย
แม้จะพูดกันว่า “คนตั้งครรภ์ควรพักผ่อนอยู่นิ่ง ๆ” แต่การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญเช่นกันเช่น การเดิน ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่จะไม่ก่อให้เกิดผลร้ายต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ ต่อมาเมื่อคุณแม่เข้าสู่ช่วงปลอดภัยแข็งแรงดีแล้วขอแนะนำให้ไปเดินเล่นหรือเดินออกกำลังกายทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง ก็จะดีที่สุดและแน่นอนว่าการทำงานบ้านตามปกติก็จะสามารถทำได้แล้ว

สำหรับคุณแม่ที่แม้น้ำหนักตัวจะเป็นปกติแต่เมื่อถึงช่วงเวาที่จะคลอดลูกแล้วเกิดอาการคลอดได้ยากเนื่องจากกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง สามารถแก้ไขและเสริมสร้างกล้ามเนื้อส่วนต่างๆได้ด้วยการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม โดยการออกกำลังกายดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการลดแคลอรี่เท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างกล้ามเนื้อสำหรับการคลอดลูกอีกด้วย นอกจากนี้สำหรับคนที่ทั้งเดินออกกำลังกายและทำงานบ้านแล้ว แต่น้ำหนักตัวยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขอแนะนำให้ลองไปเข้าคอร์สว่ายน้ำหรือเต้นแอโรบิคสำหรับคนตั้งครรภ์ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ก็อาจจะช่วยได้

mamypoko.co.th

การเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์

การตรวจอัลตราซาวด์เพื่อตรวจสอบรูปร่างต่างๆ ของลูกน้อยก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คุณแม่รู้สึกดีใจ
ที่ได้ตั้งครรภ์ หากถ้าว่ายิ่งคุณแม่ได้รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์ด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้รู้สึกว่า
ด้วยตัวเองกำลังมีลูกน้อยอยู่ข้างในท้องจริงๆ
ก. ความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อย

เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 5 เดือน กระดูกและกล้ามเนื้อของลูกน้อยก็จะเจริญเติบโต เริ่มมีการเหยียดแขนยืดขาเคลื่อนไหวไปมาอยู่ในน้ำคร่ำ และในเวลาที่แขนขาของลูกไปกระทบกับผนังมดลูกของคุณแม่ ก็จะทำให้คุณแม่รู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์ ซึ่งการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์ไม่เพียงแต่ทำให้คุณแม่รู้สึกว่ามีเด็กอยู่ในท้องเท่านั้น แต่ยังเป็นการสื่อสารที่สำคัญจากลูกน้อยที่ต้องการจะบอกให้คุณแม่รับรู้ถึงสภาพร่างกายของเขาอีกด้วย

ส่วนความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์คุณแม่ในครั้งแรกนั้นจะเกิดในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 18 -20 ของการตั้งครรภ์ แต่ช่วงเวลาดังกล่าวนี้จะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลค่อนข้างมาก โดยจะแตกต่างกันไปตามความหนาของไขมันใต้ผิวหนัง ปริมาณน้ำคร่ำและตำแหน่งของรก นอกจากนี้การตรวจอัลตราซาวด์ก็สามารถตรวจสอบได้ว่าลูกน้อยนั้นเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงหรือไม่ ดังนั้นถึงแม้คุณแม่จะไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์ได้ในช่วงนี้ก็ไม่ต้องกังวลใจไป

ในความเป็นจริงแล้วลูกจะดิ้นอยู่ในท้องคุณแม่ตั้งแต่ก่อนที่คุณแม่จะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของเขาในเสียอีก กล่าวคือพอคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 7 สัปดาห์ ระบบประสาทของลูกน้อยก็จะเจริญเติบโต ต่อมาพอผ่านไปประมาณ 12 สัปดาห์ลูกน้อยก็จะเริ่มอมนิ้วมือ และเมื่อผ่านไป 20 สัปดาห์ เขาก็จะเคลื่อนไหวไปมาอย่างเป็นอิสระภายในน้ำคร่ำซึ่งช่วงนี้เองที่คุณแม่เริ่มจะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์อย่างจริงจัง โดยความรู้สึกของคุณแม่แต่ละคนก็จะแตกต่างกันไปในตอนแรกคุณแม่จะรู้สึกเหมือนมีไฟฟ้าสถิตย์วิ่งผ่านไปมาในท้อง ต่อมาก็จะเปลี่ยนไปรู้สึกเหมือนมีอะไรดิ้นดุ๊กดิ๊ก จนกระทั่งรู้สึกว่ามีอะไรดิ้นตุ๊บตั๊บทำให้รู้ได้ว่า “เอ๊ะ ลูกน้อยอาจจะกำลังเตะท้องอยู่!” อีกทั้งอาจมีบางทีที่รู้สึกว่าลูกน้อยกำลังสะอึกอยู่ด้วย และเมื่อลูกน้อยมีการเคลื่อนไหวที่รุนแรงขึ้น คุณแม่อาจจะแค่เพียงใช้ตาดูที่ท้องก็จะสามารถรู้ได้เลยว่าลูกกำลังดิ้นอยู่แต่เมื่อถึงช่วงเวลาใกล้คลอด การเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์จะสงบนิ่งลงเนื่องจากลูกน้อยจะเคลื่อนตัวต่ำลงมา แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณแม่แต่ละคนด้วยซึ่งมีบางกรณีที่ลูกน้อยเคลื่อนไหวไปมาอยู่ในท้องอยู่ตลอดจนถึงตอนที่ใกล้จะคลอดก็มี ดังนั้นจึงไม่สามารถกล่าวได้ว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป

ข. การสื่อสารกับลูกน้อยผ่านทางการเคลื่อนไหวของลูกน้อย

การเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์ถือเป็นการสื่อสารครั้งแรกระหว่างแม่และลูกขณะอยู่ในท้อง อีกทั้งคุณแม่ยังสามารถตรวจสอบความแข็งแรงและพูดคุยกับลูกน้อยผ่านทางการเคลื่อนไหวของเขาในครรภ์ได้ด้วย ซึ่งลูกน้อยเองก็ชอบมากเช่นกันที่ได้พูดคุยและเล่นกับคุณแม่ ดังนั้นขอให้คุณแม่สนุกสนานไปกับช่วงเวลาอันมีค่าที่จะได้สื่อสารกับลูกน้อยในครรภ์กันเถอะ

การเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์เป็นหนทางหนึ่งที่ใช้ตรวจสอบว่าเขายังเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงหรือไม่ แต่หากเกิดกรณีที่คุณแม่รู้สึกว่าเด็กไม่ดิ้นเลยทั้งวัน ทั้งๆ ที่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวมาโดยตลอดควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูความผิดปกติเพื่อความแน่ใจจะดีกว่า

ต่อมาเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 32 - 35 สัปดาห์ ลูกน้อยจะเริ่มนอนและตื่นเป็นเวลา หากคุณแม่ลองนับการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์โดยบันทึกเวลาที่ลูกน้อยใช้ในการเคลื่อนไหวในแต่ละวันได้ประมาณ 10 ครั้งทุกวัน ก็จะทำให้สามารถตรวจสอบได้ดียิ่งขึ้นว่าลูกน้อยเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงหรือไม่

วิธีการนับการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์
1) ให้คุณแม่ปฏิบัติทุกวัน หลังกินอาหารก่อนเข้านอน หรือตอนที่คุณแม่ผ่อนคลายอิริยาบท
2) ให้นอนตะแคงลำตัวโดยให้ลำตัวด้านซ้ายราบไปกับพื้น
3) จับเวลาว่าลูกน้อยใช้เวลากี่นาทีกว่าจะเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนจนครบ 10 ครั้ง
แต่หากเกิดกรณีที่รู้สึกต่างไปจากปกติหรือไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์เลยทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้รู้สึกได้มาโดยตลอด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูความผิดปกติเพื่อความแน่ใจจะดีกว่า

ค. กิจกรรมพัฒนาการการเคลื่อนไหวของลูกน้อย

เมื่อคุณแม่เริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์แล้ว ก็คงจะรู้สึกเป็นกังวลใจขึ้นมาเมื่อลูกน้อยหยุดการเคลื่อนไหวไปใช่ไหม แต่ลูกน้อยมีเวลาหลับและตื่นในระหว่างอยู่ในครรภ์คุณแม่ โดยลูกน้อยจะมีวงจรของช่วงหลับและตื่นอยู่ที่ประมาณ 60 นาที หากผ่านไป 1 ชั่วโมงแล้วยังไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์เลย ขอคุณแม่ให้ลองไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูความผิดปกติเพื่อความแน่ใจจะดีกว่า

สำหรับการรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์นั้นเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเขาเจริญเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง เพราะช่วงที่คุณแม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์ เป็นช่วงที่ระบบประสาทของลูกน้อยพัฒนาขึ้นมากพอสมควร โดยประสาทในการรับฟังเสียงก็เติบโตสมบูรณ์แล้ว ดังนั้นเราลองมาสื่อสารกับทารกในหลายๆ รูปแบบ เช่น จับท้อง พูดคุยด้วย หรือฟังดนตรีกันดูเพราะคงไม่มีความสุขใดจะดีไปกว่าการได้ถ่ายทอดความรักจากคุณแม่ไปสู่ลูกน้อย และการได้รู้สึกถึงปฏิกิริยาตอบสนองต่อกัน ซึ่งในการสื่อสารด้วยกิจกรรมต่างๆ กับลูกน้อย ก็มีหนึ่งกิจกรรมที่จะขอแนะนำให้คุณแม่ลองนำไปใช้กันดู คือ เกมส์เตะเลยลูก

เกมส์เตะเลยลูกนั้น ในตอนแรกจะเริ่มด้วยแบบง่ายๆ ก่อน เมื่อลูกน้อยทำได้แล้วจึงจะก้าวไปสูงขั้นต่อไป ทั้งนี้อาจมีเด็กบางคนที่มีปฏิกิริยาตอบสนองเร็ว และมีเด็กบางคนที่ไม่ค่อยมีปฏิกิริยาตอบสนอง แต่ถึงแม้จะไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองคุณแม่ก็ไม่ต้องร้อนใจไปเพราะการกระทำดังกล่าวจะส่งผ่านไปถึงลูกน้อยอย่างแน่นอน โดยคุณแม่สามารถผ่อนคลายและสนุกสนานได้กับลูกน้อยได้ทุกวัน อาจจะประมาณวันละ 2 - 3 ครั้งสำหรับวิธีการเล่นเกมส์เตะเลยลูกจะมี ดังนี้

1) หากลูกน้อยเตะ ก็ให้คุณแม่ตบเคาะบริเวณนั้นพร้อมกับพูดว่า “เตะ” หลังจากนั้น 1-2 นาที ลูกน้อยก็จะเตะกลับมา และก็ขอให้ตบเคาะตรงที่เดียวกันอีกครั้งพร้อมกับพูดว่า “เตะ” ลูกน้อยก็จะเตะตรงบริเวณเดิมอีก

2) พอทำตามข้อ 1 ไปหลายๆ วัน ต่อไปก็มาตบเคาะตรงบริเวณที่ต่างจากจุดที่ลูกน้อยเตะพร้อมกับพูดว่า “เตะ” พอทำเช่นนั้น ลูกน้อยก็จะไปเตะตรงที่คุณแม่ตบเคาะ พอทำเช่นนี้ ซ้ำไปซ้ำมาสัก 1 - 2 สัปดาห์ ลูกน้อยก็จะเตะตรงบริเวณใกล้ๆ กับที่คุณแม่ตบเคาะได้

3) พอเริ่มเคยชินแล้ว เมื่อตบเคาะไป 2 ครั้ง พร้อมกับพูดว่า “เตะ เตะ” ลูกน้อยก็จะเตะตอบกลับมา 2 ครั้ง คือ ลูกน้อยจะเตะตอบกลับมาเท่ากับจำนวนครั้งที่คุณแม่ตบเคาะท้องนั่นเอง