ผู้สนับสนุน

วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

หลากคำถามกับออทิสติก

คุณพ่อคุณแม่ที่มีปัญหาคับข้องใจเรื่องพฤติกรรมลูก หรือกำลังเครียดว่าลูกของเรานั้นจะกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมหรือไม่ ผศ.พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์ จะมาไขคำตอบให้คุณพ่อคุณแม่กัน

Q : เด็กออทิสติก บุคลิกภาพโดยรวมที่สังเกตได้จะเป็นอย่างไร
A : ส่วนใหญ่พ่อแม่จะพามาหาคุณหมอด้วยเหตุลูกไม่พูด และถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าเด็กมีลักษณะอื่นร่วมด้วย คือไม่สบตา แยกตัวไม่เล่นกับใคร ไม่สามารถสื่อความต้องการให้คนอื่นรับรู้ได้ต่างจากเด็กพูดช้าทั่วไป เพราะเด็กพูดช้าเขายังสื่อความหมายด้วยท่าทางได้ เช่น ชี้บอกความต้องการ มีการมองหน้าสื่อสายตา ส่งเสียงอืออาเรียกคนอื่นบ้าง แต่เด็กออทิสติกจะสื่อไม่ได้เลย อย่างเวลาเขาอยากได้น้ำก็จะจับมือแม่ไปที่ขวดน้ำ บางคนก็เข้าใจว่านี่เป็นการสื่อภาษาของเขา แต่จริงๆ สำหรับเขา แม่เป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งเท่านั้นเองถ้าเปรียบเทียบในความรู้สึกเขา ดังนั้นแม่ก็ไม่ต่างอะไรกับที่เปิดขวดเท่านั้น

Q : ในการรักษาเด็กแต่ละคนต้องเริ่มต้นอย่างไรบ้าง
A : เด็กส่วนใหญ่กุมารแพทย์จะเป็นผู้ส่งมาให้ แรกๆ เราก็จะปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังกับพ่อแม่ หรือพี่เลี้ยงที่พาเขามา อยู่ในห้องสังเกตพฤติกรรม เราหมายถึงทีมงานซึ่งจะมีดิฉัน แพทย์ และนักวิจัย คอยสังเกตผ่านกระจกวันเวย์ ดูว่าเขาแตกต่างจากเด็กวัยเดียวกันมั้ย แล้วเริ่มทดสอบจากสิ่งที่เราสงสัย เช่นว่าถ้าเราเดินเข้าไปเขาจะหันมามองเราไหม เขาติดแม่ไหม ลองให้แม่เดินออกจากห้อง เขาจะทำอย่างไร หรือลองขัดใจดูว่าจะตอบสนองในรูปไหน เป็นต้น
หลังจากนั้นก็กลับมาให้ความสำคัญกับปัญหาที่พาเด็กมาและซักประวัติเพื่อสรุปวินิจฉัย การซักประวัติต้องละเอียดเพราะลักษณะบางอย่างที่คล้ายออทิสติกแต่อาจไม่ใช่ ซึ่งอาจมีเหตุผลมีที่มาก็ได้ เช่น ออทิสติกชอบเล่นซ้ำๆ เด็กคนนี้ก็ชอบเล่นซ้ำๆ แต่ปรากฏว่าพอซักประวัติแล้ว แม่ให้เล่นแต่ของเล่นเดิมชิ้นเดียว อย่างนี้แสดงว่าเป็นเรื่องของการเลี้ยงดู บางรายต้องไปเยี่ยมบ้านเพื่อดูสภาพความเป็นอยู่ และสังเกตพฤติกรรมเด็กที่บ้าน เมื่อผ่านกระบวนการวินิจฉัยแล้ว หมอก็จะอธิบายให้พ่อแม่ฟังแล้วให้พ่อแม่กลับไปทบทวนดูว่า ที่หมอเห็นว่าลูกผิดปกตินี้พ่อแม่สังเกตเห็นแบบนี้มั้ย แล้วค่อยมารักษา

Q : การรักษาเน้นแก้ไขด้านไหนเป็นพิเศษบ้าง
A : เราจะเน้นด้านพัฒนาการทางสังคม เพราะเด็กกลุ่มนี้เขาจะอยู่ในโลกของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่สนใจใคร ทำให้ขาดโอกาสในการเรียนรู้ด้านอื่นๆ ตามมา รวมทั้งเรื่องการสื่อภาษาหรือเรื่องพูดด้วย บางคนก็เล่นอะไรซ้ำๆ อยู่คนเดียว เราก็จะทำให้เขาเห็นความแตกต่างของคนกับวัตถุ ทำให้เขาสนใจคนอื่นได้บ้าง เริ่มสบตาคนอื่นได้นานขึ้น หรือเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้ แล้วเขาก็จะเริ่มเรียนรู้บางสิ่งบางอย่าง จากคนที่เขามีปฏิสัมพันธ์ด้วย การเล่นซ้ำๆ ก็เริ่มลดลง เพราะเขารู้จักเล่นอย่างอื่นมากขึ้น หลังจากนั้นเขาก็จะเริ่มสื่อด้วยท่าทางบ้าง ก่อนจะเป็นคำพูดในที่สุด ฟังดูเหมือนง่ายแต่คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงทราบดีว่ามันไม่ง่ายนัก เพราะเขาต้องทุ่มเทมาก แต่ก็คุ้มกับการที่เขาได้ลูกกลับมาอยู่ในโลกเดียวกับเขา ไม่ใช่อยู่ในโลกของตัวเอง สื่ออะไรกันก็ไม่ได้

Q : พ่อแม่ต้องตั้งรับอย่างไร มีคำแนะนำอะไรบ้าง
A : คงต้องเริ่มจากการเข้าใจและยอมรับก่อนว่าลูกเราเป็นอะไร แล้วรีบสร้างความพร้อม โดยเฉพาะด้านกำลังใจให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะคุณพ่อคุณแม่คือกำลังสำคัญที่จะช่วยให้เด็กพัฒนาต่อไป เพราะจริงๆ แล้วการบำบัดรักษาเด็กกลุ่มนี้พ่อแม่ไม่ได้มีบทบาทแค่พาลูกมาให้หมอรักษาแค่นั้น แต่คุณพ่อคุณแม่เป็นเหมือนหนึ่งในทีมผู้รักษาเลย ดิฉันและคุณหมอก็ให้ได้แค่คำแนะนำหรือสาธิตให้ดู คุณพ่อคุณแม่ต้องนำไปปฏิบัติที่บ้านอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งจากประสบการณ์เด็กจะดีขึ้นช้า หรือเร็วพ่อแม่มีส่วนมาก เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องมีกำลังใจ มีความพยายามและอดทน

Q : การทำงานกับเด็กออทิสติกมีความยากลำบากอย่างไรบ้าง
A : งานนี้เป็นเรื่องของพฤติกรรม ดังนั้นต้องอาศัยเวลา ความพยายาม และความอดทนอย่างมาก ที่สำคัญรายละเอียดในการช่วยเหลือมันไม่มีอะไรตายตัว เด็กแต่ละคนก็ต่างกัน เราต้องคิดปรับตลอดเวลา

Q : เป้าหมายสูงสุดของการทำงานตรงนี้คืออะไร
A : งานจิตวิทยาคือการศึกษาพฤติกรรม ดิฉันก็นำตรงนั้นมาปรับใช้มาบำบัดเขา และหวังอยากเห็นเด็กๆ พวกนี้สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนปกติมากที่สุด และถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เขาหายจนเป็นปกติ