ผู้สนับสนุน

วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2556

พัฒนาสมอง จากการเคลื่อนไหว


มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวภายในหรือภายนอกร่างกาย ทั้งการกิน การขับถ่าย การหายใจ การเดิน ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่สำคัญของมนุษย์ เพราะชีวิตคือการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวจะทำให้มนุษย์มีอายุที่ยืนยาวขึ้นเพื่อสนองการดำรงอยู่ของมนุษย์ทั้งสิ้น


การเคลื่อนไหวเป็นการทำงานของสมองที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาสมองได้ด้วยการเคลื่อนไหว และที่สำคัญสมองมนุษย์จะพัฒนาได้ดีตั้งแต่ช่วงแรกเกิดจนถึงประมาณ 8 ขวบ ดังนั้นในช่วงเวลานี้จึงเป็นเวลาทองที่คุณพ่อคุณแม่จะมีส่วนช่วยพัฒนาสมองลูกได้มากที่สุด ด้วยวิธีการง่ายๆ คือให้ลูกได้ฝึกการเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบ ที่จะช่วยพัฒนาให้สมองลูกแข็งแรง สมองทั้งสองซีกทำงานได้อย่างสมดุล ทั้งยังส่งผลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนให้มากขึ้น และช่วยให้เกิดการผ่อนคลายความตึงเครียดของลูกได้เป็นอย่างดี ถือเป็นวิธีการเตรียมความพร้อมให้แก่ลูก คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถใช้การเคลื่อนไหวเป็นกิจกรรมเสริมเพื่อพัฒนาสมองให้ลูกมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

เทคนิคการบริหารสมองด้วยการเคลื่อนไหวนั้นมีอยู่หลายวิธี ตั้งแต่การเล่นไปจนถึงการออกำลังกาย แต่การยืดส่วนต่างๆ ของร่างการก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ง่ายและยังประหยัดเวลา ทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านความเร็ว และความแคล่วคล่องว่องไวของสมองเด็กได้เป็นอย่างดี ช่วยให้สมองส่วนหน้าและส่วนหลังผ่อนคลาย

การยืดส่วนต่างๆ ของร่างกายมีวิธีปฏิบัติอยู่ 3 วีธี คือ
1.การยืดกล้ามเนื้อแบบกระทำเป็นจังหวะ เป็นการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะซ้ำๆ โดยอาศัยการยืดและการหดตัวดึงกลับ ของกล้ามเนื้อและเอ็นส่วนที่ต้องยืด ในลักษณะที่เกินกว่ามุมการเคลื่อนไหวปกติ เช่น ท่าดึงศอก ให้ยืนตรงกางเท้าออก เอามืออ้อมไปกุมประสานกันไว้ที่ด้ายหลัง หายใจเข้าพร้อมกับยกแขนทั้งสองขึ้นหพร้อมๆ กัน จนรู้สึกตึงและผ่านจุดตึงไปเล็กน้อย จากนั้นปล่อยกลับแล้วดึงใหม่เช่นเดิม ให้ทำเป็นจังหวะ เคลื่อนไหวซ้ำๆ กัน

2. การยืดกล้ามเนื้อแบบหยุดนิ่งค้างไว้ในจังหวะสุดท้ายของการเคลื่อนไหว ใช้วิธีการยืดกล้ามเนื้อจนกระทั่งสัมผัสจุดตึงตัว จะรู้สึกว่ามีอาการตึงปวดกล้ามเนื้อเกิดขึ้น ให้หยุดนิ่งค้างไว้แล้วให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกปกติ เช่น ท่าก้มตัวมือแตะพื้น ยืนตรงกางขาออก ชูมือทั้ง 2 ข้างขึ้นเหนือหัวพร้อมกับหายใจเข้า จากนั้นค่อยๆ ก้มตัวเอามือแตะพื้น โดยห้ามงอขา หายใจออกแล้วนับ 1-10 จึงค่อยๆ ยกตัวขึ้น

3. การยืดกล้ามเนื้อแบบกระตุ้นการรับรู้ของระบบ โดยใช้วิธีการหด และคลายตัวของกลุ่มกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการเคลื่อนไหวโดยตรง สลับกับกลุ่มกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวนั้นตัวอย่างในการบริหาร เช่น ท่าไขว้แขน ยืนไขว้ขาทั้งสองข้างขั้นตอนการปฏิบัติ หายใจเข้าชูแขนขึ้นแนบใบหู หายใจออกพร้อมกับโล้ตัวก้มศีรษะลงไขว้แขนแล้วหายใจเข้าชูแขนขึ้น เปลี่ยนขาทำสลับทำเช่นเดียวกัน

เทคนิคการบริหารสมองลูกด้วยการยืดตัวนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกฝึกด้วยตัวเขาเอง โดยคุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีอธิบายแล้วทำพร้อมๆ ไปกับลูก เพราะการให้ลูกได้สังเกตแล้วปฏิบัติด้วยตนเองจะให้ผลในการพัฒนาสมองดีกว่า