ผู้สนับสนุน

วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2556

รู้และรับพฤติกรรมวันเปิดเรียน


ในวันแรกของการเปิดภาคเรียน คุณอาจพบเห็นพฤติกรรมแปลกๆ ของเจ้าตัวเล็ก แต่นั่นคือวิธีการแสดงออกเพื่อจัดการกับความกังวลเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งไม่คุ้นเคย อย่างวันแรกของการเปิดภาคเรียนซึ่งถ้าสังเกตให้ดีๆ จะพบว่ามีอยู่ 4 ลักษณะด้วยกัน

1. เจ้าหนูขี้แย
ความรู้สึกของลูก : หนูรู้สึกเศร้าที่ต้องห่างคุณพ่อคุณแม่ และอยู่ในที่ที่ไม่คุ้นเคยเพียงลำพัง
วิธีรับมือ : พยายามอย่าให้ลูกเห็นความกังวลของคุณ เล่าให้ลูกฟังถึงสิ่งดีๆ ที่ลูกจะได้ทำที่โรงเรียน และสร้างความมั่นใจว่าคุณก็จะมารับลูกกลับบ้านอย่างแน่นอน คุณอาจแนะนำให้ลูกรู้จักกับคุณครูที่จะคอยดูแลและช่วยเหลือ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าเขามีที่พึ่งไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ลูกก็จะหยุดร้องไห้หลังจากที่คุณจากมา หากคุณยังกังวลอาจโทรถามครูว่าลูกเป็นอย่างไรบ้าง ก็น่าจะทำให้คุณสบายใจขึ้น

2. เจ้าหนูกล้าๆ (แต่ก็กลัวๆ)
ความรู้สึกของลูก : อย่าร้องไห้ อย่าร้องไห้ อย่าบ๊ายบายด้วย เพราะเดี๋ยวน้ำตาไหล จะปั้นแป้งโดว์อยู่อย่างนี้ล่ะ อย่าเงยหน้ามองคุณพ่อคุณแม่นะ กลับไปซะทีสิ อย่าร้องไห้...
วิธีรับมือ : อย่าตกใจหากลูกไม่บ๊ายบายก่อนคุณจะกลับ เพราะลูกกำลังพยายามระงับสติอารมณ์ ดังนั้นคุณไม่ควรกดดันให้ลูกตอบสนอง อย่าพูดว่าคุณจะคิดถึงลูกมากแค่ไหน เพราะจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกแย่ และไม่แปลกถ้าลูกอาจร้องไห้ทันทีที่เห็นคุณกลับมารับในตอนเย็น เพราะหนูน้อยพยายามกลั้นอารมณ์ไว้ทั้งวัน ใช้เวลานี้ทำกิจกรรมดีๆ เพื่อผ่อนคลายร่วมกับลูกไม่ว่าจะไปเดินเล่นในสวน แวะกินไอติม เพื่อเรียกรอยยิ้มและให้รางวัลแก่เด็กน้อยผู้เข้มแข็ง

3. เจ้าหนูความรู้สึกช้า
ความรู้สึกของลูก : โรงเรียนไม่เห็นจะน่ากลัวเลย สบาย ขำๆ...2-3 วันหรือ 2-3 สัปดาห์ผ่านไปแง๊!!! แม่จ๋า อย่าทิ้งหนูไว้คนเดียว!!
วิธีรับมือ : พูดคุยกับลูกถึงกิจกรรมสนุกสนานที่ลูกชื่นชอบมากในวันแรกๆ อาจพูดคุยกับครู เพื่อให้คุณครูช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ลูก รวมทั้ง ใช้เวลาร่ำลาให้น้อยลง อาจจะแค่โบกมือ ส่งจูบ ที่คุณสามารถทำได้ขณะให้ลูกเดินเข้าไปกับคุณครู

4. เจ้าหนูนักสำรวจ
ความรู้สึกของลูก : เดี๋ยวต้องไปสำรวจรอบๆ เสียหน่อย แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะเล่นตรงไหนดี
วิธีรับมือ : ให้เวลากับลูกในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ แล้วจึงช่วยให้ลูกคุ้นเคยกับการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ลูกกำลังเรียนรู้ขณะที่เขาสำรวจไปรอบๆ คุณอาจจะขอให้คุณครูช่วยหากิจกรรมที่เหมาะสมให้อีกแรง