ผู้สนับสนุน

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

ไขปัญหา...เมื่อเจ้าหนูขี้กลัว

ไม่เอา หนูไม่ไป หนูกลัวผี! เอาล่ะซิ เมื่อคุณไล่ให้ลูกไปอาบน้ำ แต่กลับกลายเป็นว่า ลูกไม่ยอมไปทั้งๆ ที่เอาใจสารพัด แถมบอกคุณว่าอีกด้วยว่าเขากลัวผีมาหลอก กลัวจิ้งจก กลัวนู่น กลัวนี่ เอ! ลูกกลัวจริงๆ หรือแค่แกล้งเราเพื่อจะได้ไม่ต้องอาบน้ำกันนะ

ความกลัวของเด็กพบได้ตามธรรมชาติ และเด็กมักจะเกิดความกลัวสูงสุดในช่วงพัฒนาการวัย 3-5 ปี สิ่งที่เด็กๆ มักจะกลัวกันเป็นส่วนใหญ่ก็คือ ความมืด เสียงดังๆ ที่สูง สัตว์จำพวก งู จิ้งจก จิ้งเหลน ตุ๊กแก และที่ฮิตที่สุดก็เห็นจะเป็นผี ดังนั้นหากลูกวัยนี้เกิดความกลัวไปเสียหมดทุกสิ่งทุกอย่างก็ถือว่าลูกมีพัฒนาการเป็นปกติดีอยู่ คุณแม่ควรพึงระลึกไว้อยู่เสมอว่าสัญชาตญาณมีไว้ให้คนๆ นั้นเกิดความระมัดระวังต่อสิ่งต่างๆ แต่หากขาดซึ่งสัญชาตญาณนี้ไป อาจจะทำให้ชีวิตเกิดอันตรายได้ หรือถ้ามีมากไปก็จะทำให้ไม่สามารถพัฒนาตนเองต่อไปได้ดี

สาเหตุที่ทำให้เด็กเกิดความกลัว คือ

1. เด็กอาจมีแบบอย่างของคนขี้กลัว วิตกกังวล หรือเป็นโรคประสาทวิตกกังวลอยู่
2. เด็กถูกข่มขู่ ถูกหลอก จนทำให้ตกใจกลัวอยู่บ่อยๆ
3. เด็กมีประสบประการณ์ที่ทำให้ตกใจอย่างรุนแรงมาก่อน เช่น ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว ถูกตี ดุว่าอย่างรุนแรง
4. ขาดคนประคับประคอง ขาดการฝึกฝนทักษะ จนทำให้ขาดความมั่นใจ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ไม่ได้ดี

หนทางแก้ไขปัญหา

1. หาต้นแบบของความวิตกกังวล หรือคนขี้กลัวภายในบ้าน เพราะพฤติกรรมของเด็กส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากการเลียนแบบ อย่างเช่น คุณแม่ที่เห็นจิ้งจกแล้วกระโดดร้องกรี๊ด จะทำให้เด็กเกิดความตกใจและหวาดกลัวตามมาได้ การลดต้นแบบของความหวาดกลัว ความวิตกกังวลลง และแสดงท่าทีที่เชื่อมั่นในสิ่งต่างๆ รอบตัว จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่เด็กได้

2. ลดท่าทีข่มขู่ หรือไม่แสดงความโกรธที่ทำให้ไปเพิ่มความหวาดกลัวของเด็กโดยไม่จำเป็น ผู้ใหญ่อย่างเรายิ่งเห็นเด็กกลัวก็ยิ่งแสดงท่าข่มขู่เพิ่มขึ้น หรือมีความคิดผิดๆ ที่ว่าการหลอกให้เด็กกลัว จะเป็นการทำให้เด็กเชื่อฟังมากขึ้น การหลอกทุกรูปแบบให้เด็กหวาดกลัว เช่น หลอกว่าเดี๋ยวตุ๊กแกจะมากินตับ เดี๋ยวจะพาไปให้หมอฉีดยา ถ้าเสียงดังเดี๋ยวผีได้ยิน แล้วจะมาหลอกนะ ฯลฯ การหลอกแบบนี้คุณพ่อคุณแม่ควรเลิกเสียเถอะ บางครั้งผู้ใหญ่สนุกที่หลอกเด็กได้ แต่หารู้ไม่ว่าไปเพิ่มความวิตกกังวล และความกลัวให้แก่เด็กโดยไม่มีความจำเป็น

3. แสดงท่าทีอบอุ่น ปลอบประโลม เข้าใจความรู้สึกของเด็ก บอกความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และเบี่ยงเบนความสนใจไปยังสิ่งอื่น ครั้งแรกๆ อาจไม่ได้ผล ให้ทำซ้ำๆ สม่ำเสมอและอยู่ใกล้ชิดกับเด็กให้นาน

4. เพิ่มทักษะในการช่วยเหลือตนเอง การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นบ่อยๆ จะส่งผลทำให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง และมั่นใจสภาพแวดล้อมได้ดีขึ้น

5. ฝึกให้เผชิญกับสิ่งที่น่ากลัวทีละน้อย แบบค่อยเป็นค่อยไป และคอยให้กำลังใจเป็นระยะๆ จนเด็กสามารถเชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวได้เพิ่มมากขึ้น