ผู้สนับสนุน

วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2556

เลือกกระเป๋าเป้เท่ๆ ให้ลูก

เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยเรียน การให้เขามีกระเป๋าเป้สักใบที่เข้ากับชุดเด็กนักเรียนเป็นเรื่องดีทีเดียว เพราะนอกนากที่เขาจะได้ใส่สัมภาระต่างๆ ลงเป้ใบเก่งเพื่อไปอวดเพื่อนๆ ที่โรงเรียนแล้ว ยังทำเขาได้เรียนรู้การรักษาของส่วนตัวอีกด้วย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่เองก็ควรรียนรู้ในการเลือกเป้ที่ดีให้กับลูกด้วยเช่นกัน

เป้หนักๆ ลูกรักไม่ปลอดภัย
จากข้อมูลของศูนย์ วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า เด็กๆ ไม่ควรแบกสัมภาระเกิน 10% ของน้ำหนักตัว เพราะจะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ โดยเฉพาะต่อโครงสร้างของร่างกาย กระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก และความโค้งงอของกระดูกสันหลัง อาจผิดปกติได้ อย่างไรก็ตาม มีการสำรวจพบว่ามีเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น เกินกว่า 90% ที่แบกกระเป๋าน้ำหนักมากกว่ากำหนด ไม่เพียงแต่ทำให้ลูกมีอาการปวดหลัง ปวดไหล่อย่างถาวรเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพหลายประการอีกด้วย
น้ำหนักที่มากเกินไปของกระเป๋า จะดึงให้ลำตัวของเด็กเอนไปด้านหลัง ทำให้เด็กมักจะแอ่นสะโพกมาด้านหน้า หรือก้มจนหลังงอเพื่อถ่วงดุล เป็นสาเหตุให้กระดูกสันหลังอยู่ในตำแหน่งที่ผิดรูปทรง จนทำให้เกิดอาการปวดไหล่ ปวดต้นคอ และปวดหลังได้
การสะพายกระเป๋าหนักๆ จะทำให้ท่าทางการเดินของลูกเปลี่ยนแปลงไปขณะที่ต้องแบกเป้ไว้บนไหล่ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม ตกบันได เพราะขาดสมดุลในการทรงตัว
หากเด็ก ได้รับอุบัติเหตุ ขณะที่สะพายเป้ที่มีน้ำหนักมาก ก็มีแนวโน้มว่าหนูน้อยจะได้รับบาดเจ็บมากกว่าการที่ไม่ได้สะพายเป้ เพราะน้ำหนักที่มากอาจทับตัวลูกได้
เด็กที่นิยมสะพายเป้ไว้บนไหล่ข้างเดียว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม มักจะเกิดอาการปวดหลัง รวมทั้งทำให้รู้สึกตึงบริเวณต้นคอและไหล่อีกด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ไหล่ทรุดไม่เท่ากัน
สายสะพายของเป้ ที่สั้น และรัดแน่นเกินไป จะขัดขวางทางเดินของเส้นเลือด ทำให้เกิดอาการเหน็บชาที่มือและแขน หรืออาจทำให้มือและแขนของลูกไม่มีแรงได้

สะพายเป้เท่ๆ ต้องมีวิธี
ข้อดีของกระเป๋าเป้นั้นคือความกระชับ ช่วยให้ลูกเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวกคล่องตัว แต่เห็นง่ายๆ แบบนี้ ก็ต้องมีวิธีใช้ที่ถูกต้องเหมือนกันนะ
พฤติกรรมของคนโดยทั่วไปมักจะยกกระเป๋าเป้ขึ้นมาก่อน จึงค่อยสอดแขนเข้าสายสะพาย ทั้งๆ ที่กำลังยืนอยู่ ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องนัก โดยเฉพาะหากกระเป๋านั้นเต็มไปด้วยสัมภาระที่หนักอึ้ง วิธีที่ถูกคือ งอขาทั้งสองลงนั่ง โดยให้กระเป๋าเป้วางอยู่ด้านหลัง ก่อนจะสอดแขนเข้าไปในสายสะพาย เมื่อสายสะพายอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้วจึงค่อยๆ ลุกยืนขึ้น
ในแต่ละวัน เมื่อลูกสะพายเป้ขึ้นบ่า คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยปรับสายสะพายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม คือ อยู่เหนือจากเอวของลูกประมาณ 5 ซม. หากเป็นไปได้ควรปรับสายสะพายทุกวัน ตามน้ำหนักของกระเป๋าที่เปลี่ยนไป
การจัดสัมภาระลงกระเป๋าเป้ ควรนำสิ่งของหนักๆ เช่น หนังสือเรียนเล่มโต วางไว้ตรงกลางของกระเป๋า และหากกระเป๋ามีช่องเก็บสัมภาระหลายๆ ช่อง ก็ควรใช้ทุกๆ ช่อง ตามความเหมาะสม เพื่อกระจายน้ำหนัก

5 วิธีเลือกเป้ เพื่อสุขภาพ
1. น้ำหนัก ควรเลือกเป้ที่มีน้ำหนักเบา ในเมื่อต้องแบกสัมภาระที่หนักอึ้งแล้ว เป้ที่นำมาใส่ของก็น่าจะมีน้ำหนักไม่มาก เพื่อจะได้ไม่เพิ่มน้ำหนักให้มากเข้าไปอีก และหลีกเลี่ยงกระเป๋าเป้ที่ทำจากหนังเพราะมีน้ำหนักมาก
2. สายสะพาย สายสะพายทั้งสองด้านควรมีความกว้างมากพอ เพราะสายสะพายที่เล็กเกินไปจะไม่ช่วยกระจายแรงกดทับ อาจกดลงบนผิวของลูก จนทำให้เลือดไม่เดินและเกิดรอยช้ำได้
3. แผ่นรอง กระเป๋าเป้ที่ดีควรบุแผ่นรองด้ายหลังบริเวณที่ต้องสัมผัสกับหลังของผู้ใช้ เพราะไม่เพียงจะช่วยให้รู้สึกสะดวกสบายเท่านั้น แต่ยังป้องกันไม่ให้วัตถุแหลมคม เช่น ดินสอ หรือมุมหนังสือเล่มหนา ทิ่มหลังของลูกด้วย
4. สายคาดเอว เลือเป้ที่มีสายคาดเอว ซึ่งจะช่วยถ่วงดุลน้ำหนักไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้
5. ช่องเก็บของ มีช่องเก็บของที่หลากหลาย เพื่อไม่ให้น้ำหนักของสิ่งของกระจุกรวมกันอยู่ในตำแหน่งเดียว และยังง่ายต่อการค้นหาและหยิบออกมาใช้ตามโอกาส

mothersdigest.in.th