ผู้สนับสนุน

วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2556

รับมือการบาดเจ็บของวัยเรียนรู้

การที่ให้ลูกได้ออกไปเรียนรู้โลกใหม่จากการออกไปเล่นสนุกนอกบ้านนั้น คือทักษะที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรไปปิดกั้น แต่ในบางคราวความสนุกก็อาจนำมาซึ่งความเจ็บตัวได้เหมือนกัน ซึ่งก็เหมือนเป็นบทเรียนให้เขาได้เรียนรู้ในความผิดพลาดครั้งนี้ ส่วนคุณพ่อคุณแม่เพียงต้องต้องรู้วิธีรักษาเบื้องต้นไว้ด้วย

อาการบาดเจ็บที่อาจเกิดจากการเรียนรู้

แผลฟกช้ำดำเขียว-เกิดจากการถูกกระแทกที่ผิวหนังจน มีเลือดออกจากเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังที่ได้รับบาดเจ็บ แล้วรวมตัวกันบริเวณใกล้ผิวหนังชั้นบนสุด ทำให้มองเห็นเป็นรอยสีคล้ำดำและม่วง และอาจมีอาการปวดบวมอักเสบร่วมด้วย
วิธีรักษา
ขณะที่รอยฟกช้ำยังมีสีแดงอยู่ให้ประคบเย็นที่รอยฟกช้ำทันที จะช่วยลดความเจ็บปวด และลดอาการบวมของรอยช้ำ
ประคบเย็นต่อเนื่องไปทุกๆ 15 นาที ใน 24 ชั่วโมง
หลังจาก 48 ชั่วโมง ให้ประคบร้อน เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ใครั้งละ 10 นาที 2-3 ครั้งต่อวัน

แผลถลอก-เป็นการเกิดบาดแผลที่บริเวณชั้นผิวหนังชั้นเพียงตื้นๆ เท่านั้นคุณพอคุณแม่ไม่ต้องตกใจ มีลักษณะเป็นขุยขาวๆ ที่บริเวณผิวหนัง ซึ่งอาจจะมีเลือดหรือน้ำเหลือง ซึมออกมาจากบาดแผลบ้างเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับเกิดเหตุแรงเพียงใด
วิธีรักษา
ล้างแผลด้วยน้ำสุกและสบู่ ถ้ามีกรวดดินอยู่ในแผล ควรล้างเอากรวดดินในแผลออกให้หมด
ใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบๆ แผล
ทาแผลด้วยทิงเจอร์สำหรับใส่แผลสด
ไม่ต้องใช้ผ้ากอซหรือพลาสเตอร์ปิดแผล และหลีกเลี่ยงการโดนน้ำ เพื่อให้แผลแห้งและหายเร็ว

แผลสด-เกิดจากการที่ของแข็งที่มีผิวหยาบ มากระทบหรือเสียดสีกับผิวหนัง หรืออาจเกิดจากการขีดข่วนของของมีคม เช่นลวดหนาม เส้นลวดหรือเศษไม้ เป็นต้น แผลที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะค่อนข้างลึกเป็นเส้นหรือเป็นแนว มีเลือดออก
วิธีรักษา
ล้างมือให้สะอาดก่อนทำแผลทุกครั้ง
ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ เช็ดรอบแผลจากในวนออกมาข้างนอกทางเดียว ห้ามเช็ดลงในแผล หรือวนกลับไปกลับมา แล้วทาบริเวณแผลด้วยน้ำยาโพวิโดนไอโอดีน
ปิดแผลด้วยผ้ากอซหรือผ้าสะอาด
ระวังอย่าให้แผลโดนน้ำ เพราะอาจทำให้แผลหายช้า หรือเป็นหนอง
ควรทำความสะอาดแผล เปลี่ยนผ้ากอซวันละ 1 ครั้ง จนกว่าแผลจะหาย
ถ้าพบว่ามีเลือดออกมาก หรือภายใน 1 ชั่วโมงเลือดยังไม่หยุดไหลให้รีบส่งโรงพยาบาลทันที

ข้อเท้าแพลง-เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ง่ายในเด็ก เนื่องจากการทรงตัวยังไม่ดีนัก เกิดจากการบิดของข้อเท้าที่เกิดจากอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การหกล้ม หรือการวิ่ง ส่วนใหญ่จะเกิดจากการเดินสะดุดก้อนหิน ขอบถนน พื้นที่ไม่เรียบ หรือต่างระดับกัน เป็นต้น
วิธีรักษา
ให้ข้อนั้นอยู่นิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้ และยกสูงไว้
ในกรณีที่เพิ่งเป็นหรือยังไม่เกิน 48 ชั่วโมง ข้อยังไม่บวมหรือบวมน้อย ให้ประคบด้วยน้ำเย็นหรือน้ำแข็งนาน 15-30 นาที วันละ 2 ครั้ง
หลัง 48 ชั่วโมงไปแล้ว เมื่อพบว่าข้อบวมเต็มที่ ให้ประคบด้วยน้ำร้อน
ถ้าเป็นมากจนเคลื่อนไหวข้อนั้นไม่ได้เลย ควรรีบเคลื่อนย้ายไปโรงพยาบาล