ผู้สนับสนุน

วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2556

หมามุ่ยและว่านสบู่เลือดจากประจวบคีรีขันธ์

วัันนี้ Good MaMee ได้ไปเจอสาระน่าสนใจเกี่ยวกับสมุนไพรตัวหนึ่งมา จาก Blog ของ Chalobon ซึ่ง ผู้เขียน blog จบการศึกษาระดับปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) และปริญญาเอก (จุลชีววิทยา) จากมหาวิทยาลัยมหิดล ปฏิบัติงานวิจัยหลังปริญญาเอกที่ Albert Ainstein College of Medicine, NY, USA ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตเป็นศาสตราจารย์ ระดับ 10 ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยปฏิบัติงานบริหาร ในตำแหน่ง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ หัวหน้าภาควิชา และรับผิดชอบงานนโยบาย แผน พัฒนาคุณภาพ และการจัดการความรู้ เมื่อเกษียณอายุราชการจึงมาทำงานอดิเรกหลายอย่าง ที่ชื่นชอบคือ รวบรวมและลองทำสูตรอาหารและเบเกอรี่ และยังช่วยงานของสมาคมวิชาชีพอยู่บ้าง นอกจากนี้ ยังปลูกพืชผักสวนครัวแบบเกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาพไว้บริโภคเองและแจกจ่ายเพื่อนฝูงอีกด้วย

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียอัธรส Good MaMee จึงคัดลอกทั้งหมดมาให้คุณแม่อ่านกันเลย ค่ะ !


เริ่มกันเลย




วันหยุดยาวที่ผ่านมา มีโอกาสไปที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เพื่อเยี่ยมผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ท่านเป็นบุพการีของเพื่อนรักรุ่นน้องค่ะ ที่ขำๆ คือ คุณพ่อของเพื่อนรุ่นน้องคนนี้เรียกเราว่าอาจารย์ และคุณแม่เรียกพี่แดงตามลูกสาว ส่วนเราเรียกท่านทั้งสองว่าคุณพ่อและคุณแม่
หลังจากที่ไม่ได้ไปหาท่านมานานประมาณสิบปี คุณพ่อยังดูแข็งแรงและรูปร่างดีมาก ทั้งที่เคยเป็นอัมพฤกษ์ถึงขนาดต้องเดินด้วยไม้เท้าสามขา แต่ท่านมีความตั้งใจสูงในการรักษาสุขภาพและฟื้นฟูตัวเองโดยลดน้ำหนักลงมาได้ กว่า 20 กิโลกรัม ปัจจุบันอาหารมื้อเย็นส่วนใหญ่เป็นกล้วยน้ำว้าที่ทานครั้งละ 3 ผล และที่สำคัญคือท่านดื่มน้ำว่านสบู่เลือดจากหม้อต้มน้ำร้อนแทนน้ำเปล่าตลอด ทั้งวัน
ขออนุญาตเอ่ยนามท่านสักหน่อยนะคะ ท่านคือ คุณสำราญ ประดิษฐ์ อดีตเป็นนายกเทศมนตรีประจวบฯ 4 สมัย ปัจจุบันท่านมีอายุ 72 ปีแล้ว ยังดูแข็งแรงมาก ท่านสนใจสมุนไพรของไทย ค้นคว้า ผลิตจำหน่าย และบริโภคเองมานานกว่า 20 ปีแล้ว ปัจจุบันมีคุณอุธารัตน์ บุญฤทธิ์ หรือคุณป๋อง เป็นผู้ดำเนินการ/ผู้จัดการ คุณป๋องเธอตั้งใจกับงานนี้มาก และศึกษาจนได้วุฒิบัตรผู้ประกอบโรคศิลปะการแพทย์แผนไทย จากกระทรวงสาธารณสุข ประเภทเวชกรรมไทย (พท.ว) เภสัชกรรมไทย (พท.ภ) และผดุงครรภ์ไทย (พท.ผ)

 

การผลิตและจำหน่าย เป็นแบบผลิตภัณฑ์จากครัวเรือน เท่าที่เห็น มีสมุนไพรจำหน่ายอยู่ 3 ชนิด คือ ว่านชักมดลูก หมามุ่ย และว่านสบู่เลือด เมื่อจะกลับกรุงเทพฯ ท่านได้ให้สมุนไพรกาแฟหมามุ่ยและว่านสบู่เลือดทั้งที่เป็นแบบแผ่นอบแห้งและ แบบที่เป็นผงบรรจุในแคพซูลมาให้ทดลองใช้ พร้อมให้หัวว่านสบู่เลือดมาปลูกเป็นไม้ประดับอีกด้วย และมีโอกาสได้ลองชิมเมล็ดหมามุ่ยที่ล้างสะอาดและนำไปคั่วจนแตกแล้ว มีรสชาติคล้ายถั่วเหลืองคั่วที่ขายเป็นอาหารสุขภาพ สำหรับเมล็ดหมามุ่ย ท่านได้จากการเก็บฝักหมามุ่ยที่ขึ้นอยู่มากมายในไร่ของท่านนั่นเอง

 

รูปข้างบนเป็นเมล็ดหมามุ่ยที่ทำความสะอาดแล้ว (ซ้าย) และเมล็ดหมามุ่ยที่นำไปคั่วจนเมล็ดแตกแล้ว (ขวา)
เมื่อกลับถึงบ้าน จึงได้ศึกษาข้อมูลของสมุนไพรที่ได้รับอภินันทนาการมานี้
ข้อมูลที่นำเสนอโดย ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม-4 กันยายน 2554 ระบุว่า


หมามุ่ย เป็นสมุนไพรไทยพื้นบ้านที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในอดีต หมามุ่ย เป็นไม้เลื้อยล้มลุก ลำต้นเล็กเหนียวคล้ายเชือก ดอกออกเป็นช่อห้อยลง สีม่วงแก่ถึงม่วงออกดำ ผลเป็นฝักยาว รูปร่างคล้ายถั่วลันเตา ปกคลุมด้วยขนละเอียดสีน้ำตาลอมแดงหรือสีทองอมแดง เต็มไปด้วยสารซีโรโทนิน (Serotonin) ที่เป็นพิษและหลุดร่วงง่ายจึงปลิวไปตามลม เมื่อโดนจะทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง ชาวบ้านทั่วไป เมื่อพบจึงมักทำลายเถาหมามุ้ยทิ้ง ตอนเด็กๆ เราวิ่งเล่นในสวน ก็เคยเจอมาแล้ว มันคันมากจริงๆ

 

ภายในฝักของหมามุ่ยมีเมล็ดลักษณะรูปไข่  มีสารที่มีอิทธิพลต่อระบบสืบพันธุ์ และเป็นสารสื่อประสาทซึ่งใช้ในการรักษาโรคพาร์กินสัน  ในประเทศอินเดีย พบว่า มีพืชวงศ์เดียวกับหมามุ่ยของไทย ซึ่งปลูกเพื่อนำไปแปรรูปอย่างจริงจัง มีการศึกษา วิจัย อย่างเป็นระบบ กระทั่งสกัดเป็นยา เพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ คลายเครียด บำรุงหัวใจ และเพิ่มการเผาผลาญและมวลของกล้ามเนื้อ หมอยาแผนโบราณของไทยใช้รากของหมามุ่ยแก้คัน ถอนพิษ ล้างพิษ เมล็ด ใช้ทั้งกินเมล็ดคั่ว นึ่งกินกับข้าวเหนียว และบดเป็นผง เพื่อบำรุงกำลัง เพิ่มน้ำเชื้อ เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ

การทานเมล็ดหมามุ่ย ต้องคั่วให้สุกเพื่อทำลายสารพิษ และห้ามทานมากเกินไปเพราะจะทำให้เกิดอาการประสาทหลอนได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ที่ต้องใช้ยาทางจิตเวช เด็ก และหญิงตั้งครรภ์ ไม่ควรทาน รวมทั้งผู้ที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านเบาหวาน เพราะมันจะเสริมฤทธิ์กัน

เนื่องจาก อย.ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนให้หมามุ่ยเป็นยาแผนโบราณหรือเป็นอาหารเสริมได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันประชาชนเอาหมามุ่ยไปใช้ในทางที่ผิดซึ่งอาจจะเกิดผลเสียได้ วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศรเคยเปิดอบรมการเอาหมามุ่ยมาประกอบในอาหาร เช่น คุกกี้หมามุ่ย หรือนำเมล็ดที่นึ่งหรือคั่วสุกแล้ว บดผสมกับนมหรือกาแฟ ชงดื่มในปริมาณ 1 ช้อนชาต่อ 1 ถ้วยกาแฟ ซึ่งเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงฯ ยังได้นำกาแฟสมุนไพรหมามุ่ย ประมาณ 200 แก้ว บริการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิก และเจ้าหน้าที่ประจำรัฐสภา ระหว่างแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เพื่อสนับสนุนการใช้สมุนไพรไทยด้วย

 
(ข้อมูลหมามุ่ยจาก http://www.khaosod.co.thวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554, http://www.pbh.go.th และนิตยสารหญิงไทย ปักษ์แรก เดือนพฤศจิกายน 2554)
 

ว่านสบู่เลือด เป็นไม้เถาขนาดกลาง ใบกลมก้นปิดปลายแหลม ขนาด 3-4 นิ้ว หลังใบไม่มีสีแดง ท้องใบมีสีเขียวอ่อน ๆ หัวว่านสบู่เลือดมีลักษณะกลมใหญ่ บางครั้งมีขนาดใหญ่มาก เท่ากาละมังใบใหญ่ โดยสัณฐานของหัวจะกลมเสมอ เมื่อเอาของมีคมกรีดหรือจิก จะมียางซึมออกมาสีไม่แดงจัดเท่าใดแต่พอสังเกตเห็นได้ ก้านใบเมื่อเด็ดขาดออกจากลำตัน ก็จะมียางซึมออกมาเช่นกัน ดอกเล็ก ๆ ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ผลกลมฉ่ำน้ำเป็นพวง มี 2 ชนิดคือ
- ชนิดตัวเมีย ใบสีเขียว ก้านและเถาสีเขียว ดอกสีเขียวอมขาว มียางแดงจาง ๆ เหมือนน้ำเหลือง หัวกลมเล็ก เนื้อสีเหลืองอ่อน ๆ ผิวเรียบ
- ชนิดตัวผู้ ใบสีเขียวอมแดง ก้านและเถาอ่อน สีม่วงแดง หัวกลมโต ผิวขรุขระ ยางสีแดงเข้ม เนื้อสีเหลืองเข้ม เมื่อตากแห้งเป็นสีแดง นิยมใช้เป็นยา

 
มีผู้นำว่านสบู่เลือดไปปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากว่านสบู่เลือดมีขนาดใหญ่ ทรงกลม ใช้เป็นไม้ประดับบ้านและสวนได้ดี
ว่านสบู่เลือด มีความสัมพันธ์กับชุมชนชาวไทยมานานตั้งแต่สมัยโบราณ โดยนิยมใช้ยางสบู่เลือดผสมยาสักตามตัว เพื่อการอยู่ยงคงกะพัน และยังเป็นยาบำรุงกำลัง เหมาะสำหรับสตรีที่คลอดบุตรใหม่ ๆ และเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะอย่างดีสำหรับผู้ชรา โดยเอาหัวไปโขลกผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนกินเช้า-เย็น
 
สรรพคุณของว่านสบู่เลือด
- ใบ มีรสขม ใช้บำรุงธาตุไฟ ใส่แผลสด แผลเรื้อรัง
- ดอก รสขมเมา แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ช่วยย่อยอาหาร
- เถา รสขมเมา ช่วยขับโลหิตระดู กระจายลมที่แน่นในอก
- หัว รสขม รับประทานกับน้ำผึ้ง บำรุงกำลังให้แข็งแรง ขับผายลม เจริญอาหาร เป็นยาอายุวัฒนะ แก้เสมหะเบื้องบน บำรุงความกำหนัด ปลอกเปลือกฝานตากแห้งบดเป็นผงผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนเท่าปลายนิ้วก้อย รับประทานครั้งละ 3-5 เม็ด รักษาโรคมะเร็งภายในต่าง ๆ โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง มุตกิดระดูขาว แก้ปวดศีรษะ
- ราก รสขมใช้บำรุงประสาท
(ข้อมูลว่านสบู่เลือดจาก http://kanchanapisek.or.th/ )
หากสนใจ เมื่อเดินทางผ่าน สามารถแวะคุย ชิมกาแฟและชาสมุนไพรที่ว่านี้ได้เลยค่ะ ที่ 29/3 หมู่ 10 ถนนเพชรเกษม ตำบลเกาะหลัก อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 77000 ถ้าไปจากกรุงเทพฯ อยู่ริมถนนฝั่งซ้ายมือก่อนเลี้ยวเข้าเมืองเล็กน้อย สังเกตป้ายขนาดใหญ่ของโชว์รูมโตโยต้าสาขาประจวบคีรีขันธ์ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามทางขวามือ หรือโทรสอบถามรายละเอียดได้ที่ 08-1880-6940, 08-4647-5488, 032-602534